วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สิวขึ้นเรื้อรัง เป็นโรคต่อมไขมันอักเสบใช่ไหมเนี่ย?




"คุณเภสัชขา!!!  หนูชอบมี ผื่นแดง  มีสะเก็ดเล็ก ๆ เป็นขุยลอกเป็นมัน มีขอบเขตชัดๆเลย ของหนูหน่ะ เต็มหน้าผาก เหมือนเป็นสิว ทั้งปีทั้งชาติ ไม่หายขาดซ้ากที"  

อาการที่คุณน้ำตาล คนไข้สาวอวบที่มาที่ร้านยาจะบ่นๆๆๆๆ ให้ฟังทุกครั้ง อาการที่ว่านั้น อาจเป็นอาการของโรค โรคผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน (Seborrheic dermatitis) อยากรู้ไหมว่าทำไมถึงหายยากจริง ยากจัง เรามีคำแนะนำในการดูแลรักษาโรคน่ารำคาญที่บั่นทอนผิวสวย มาแบ่งปันกัน

โรคต่อมไขมันอักเสบ (Seborrheic dermatitis) คืออะไร?

เป็นโรคที่เกิดผื่นแบบอักเสบ ขึ้นอยู่ตามผิวหนังที่มีความมัน สามารถพบได้ในทุกๆเพศทุกๆวัย แต่ในวัยที่พบมากที่สุดก็คือ ในเด็กๆช่วงแรกเกิดและในวัยผู้สูงอายุ คือเมื่อคนเรามีอายุเพิ่มมากขึ้น แล้วมีอาการเครียด ร่างกายอ่อนแอ หรือต้องนอนโรงพยาบาลนานๆ โรคนี้ก็จะมาเยือนคุณทันที

Seborrheic dermatitis สามารถเกิดขึ้นในเด็กอ่อน ได้ตามตำแหน่ง หนังศรีษะ ใบหน้า ซอกหู 
รูปมาจาก http://www.aafp.org/afp/2008/0101/p47.html


ผิวหนังอักเสบแบบนี้ ชอบเกิดบริเวณกลางใบหน้า ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความมันมาก อาการอักเสบถ้าเป็นน้อย ๆ หรือ เพิ่งเริ่มเป็นจะมีลักษณะเป็นขุยลอกเป็นหย่อมๆ ถ้าคันมากจะเป็นผื่นแดงกว้างขึ้น มีขุยหนา ลอกเป็นสะเก็ดอาจมีอาการคันร่วมด้วย 


ตำแหน่งที่มักเป็นบ่อย ของโรคนี้
รูปมาจาก http://www.aafp.org/afp/2000/0501/p2703.html

บริเวณที่ชอบเป็นบ่อยได้แก่ เหนือคิ้ว หัวคิ้ว ข้างจมูก ซอกจมูก ถ้าเป็นมากอาจลามไปขึ้นตามไรผม จอน หลังหู ต้นคอ และลงไปเกิดที่หน้าอกและหลังได้ด้วยเป็นผื่นแดง และเป็นขุยหรือสะเก็ดหนา บางคนเป็นผื่นและขุยที่ศีรษะเหมือนรังแค

ทำไมจึงมีการอักเสบที่ผิวมัน 

โดยปกติแล้ว ผิวที่อักเสบง่ายมักจะเป็นบริเวณผิวที่แห้ง เช่น ผิวด้านข้างของใบหน้า ซึ่งมีต่อมไขมันทำงานน้อยกว่า แต่ในกรณี SEBORRHEIC DERMATITIS กลับตางข้าม คือ เป็นผื่นอักเสบตรงบริเวณที่เป็นผิวมัน ซึ่งปกติแล้วไม่ควรจะอักเสบ


ถ้าเป็นตามโคนรากผมหรือหนังศรีษะ จะมีอาการเสมือนเป็นรังแคแบบเรื้อรัง
รูปมาจาก http://www.aafp.org/afp/2000/0501/p2703.html


จากการศึกษาพบว่า ผิวบริเวณดังกล่าวจะแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ ทำให้เซลผิวหนังที่ยังไม่เจริญเต็มที่ เคลื่อนตัวขึ้นมาชั้นบนของผิวหนังเร็วเกินไป เซลที่ยังไม่แข็งแรงเหล่านี้จะไวต่อการรบกวนต่างๆ ทำให้เกิดการ บวมแดง เห่อ อักเสบ และหลุดลอกเป็นขุยได้ง่าย 

สาเหตุที่ทำให้ผิวหนังแบ่งตัวเร็วนั้น สันนิษฐานว่า เกิดจากสิ่งรบกวนจากภายในผิวหนังเอง 2 อย่าง คือ 

1. การรบกวนจากยีสต์ (YEAST) ยีสต์ เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่คล้ายเชื้อรา ชอบอาศัยอยู่ในรูขุมขนบริเวณที่มีผื่น SEBORRHEIC DERMATITIS พบว่ามียีสต์พันธุ์หนึ่งชื่อ PITYRIASIS OVALE มากกว่าปกติ เข้าใจว่ายีสต์เป็นตัวการปล่อยสารที่รบกวนผิว ทำให้อักเสบได้ง่าย 

2. กรดไขมัน (FATTY ACID) เป็นสารที่เปลี่ยนแปลงจากไขมันธรรมชาติที่สร้างจากต่อมไขมันระบายสู่รูขุม ขนบริเวณผิวมัน จะมีการสร้างไขมันอกมามาก และกลายเป็นกรดไขมันมารบกวนผิว ทำให้เกิดผื่นอักเสบขึ้น 

3. แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งว่า ตรงบริเวณผิวมันของทุกคนก็พบเชื้อ P. Ovole และกรดไขมันมากกว่าปกติอยู่แล้วแต่ทำไมจึงเกิดผื่นอักเสบ SEBORRHEIC DERMATITIS ในบางคนเท่านั้น เรื่องนี้มีผู้อธิบายว่า ในคนที่เป็นผื่นอักเสบบริเวณผิวมัน ผนังรูขุมขน และเซลผิวหนังขาดความแข็งแรงจึงไม่สามารถทนต่อการรบกวนของเชื้อยีสต์ P. Ovale และกรดไขมันได้และสาเหตุที่ทำให้ผิวหนังไม่แข็งแรงนั้น มักจะพบในคนที่ขาดสารชนิดหนึ่ง คือ LINOLEIC ACID ซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบของเซลผิวหนัง 

การเกิดผื่นอักเสบ

SEBORRHEIC DERMATITIS เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน และยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์หาสาเหตุที่แท้จริงแต่เข้าใจว่า เริ่มต้นจากการที่ผนังรูขุมขนและเซลผิวหนังไม่แข็งแรง จึงถูกรบกวนโดยเชื้อ P.OVALE และกรดไขมันในรูขุมขนได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณ ผิวมัน ผลก็คือ เซลแบ่งตัวเร็วขึ้นและเมื่อได้รับสิ่งรบกวนซ้ำเติมจากภายนอก เช่น แสงแดด ความร้อน รังสี ความแห้งจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ความเป็นด่างของสบู่ ฟองครีมล้างหน้า โฟมล้างหน้า เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ฯลฯ ก็เลยทำให้อักเสบแดง เห่อ และลอกเป็นขุยตรงบริเวณที่ถูกรบกวนนั้น นอกจากนั้นเวลาสุขภาพร่างกายทรุดโทรม พักผ่อนน้อย เครียดวิตกกังวล ก็พบว่าผื่นอักเสบบริเวณผิวมันนี้มักจะกำเริบได้ง่าย

การรักษา 

1. รักษา การอักเสบในระยะที่มีผื่นอักเสบ เห่อและแดง แพทย์จะใช้ ตัวยาทาที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ให้ติดต่อกันประมาณ 3-4 วัน เพื่อให้เกิดการอักเสบที่เป็นผื่นแดง และคันยุบลง 

2. ยาปฏิชีวนะป้องกันเชื้อโรคแทรกซ้อน และยาที่ช่วยลดและควบคุมเชื้อยีสต์ โดยใช้ภายใต้พิจารณาของแพทย์ 

3. ใช้ยาช่วยลดการแบ่งตัวของเซล หลังจากลดยาระงับการอักเสบแล้ว เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดผื่นแดงและการลอกเป็นขุย 

4. ยาลดอาการคัน เช่น กลุ่ม ANTIHISTAMINES 

การป้องกัน 

1. หลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนต่าง ๆ จากภายนอก เช่น สบู่ที่เป็นด่าง ฟองจากโฟมและครีมล้างหน้า เครื่องสำอาง ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แสงแดด ความร้อน

2. คนที่เป็น SEBORRHEIC DERMATITIS ควรใช้น้ำเปล่าหรือสบู่อ่อนเป็นพิเศษ ใช้ครีมกันแดดร่วมกับ MOISTURIZER เพื่อป้องกันการรบกวนจากรังสีในแสงแดด และให้ผิวชุ่มชื้น ไม่แห้งกร้าน และระคายเคือง

3. ในบางรายอาจต้องใช้อาหารเสริมหรือวิตามินบางชนิด เช่น LINOLEIC ACID เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงของผิวหนัง

SEBORRHEIC DERMATITIS เป็นปัญหาผิวพรรณที่ค่อนข้างจะเรื้อรัง แต่ถ้าได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ระมัดระวังอย่าให้ผิวถูกรบกวน ก็สามารถควบคุมให้ผิวกลับเป็นปกติได้ ในกรณีที่ใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์รักษาป้องกันปัญหาผิวพรรณอื่นๆ เช่น สิว ฝ้า กระ ริ้วรอย ที่เกิดร่วมด้วย การใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เสมอ

แหล่งข้อมูล: สถาบันโรคผิวหนัง
http://www.inderm.go.th/nuke_802/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=241

ภาพประกอบ:
http://hardinmd.lib.uiowa.edu/dermnet/seborrheicdermatitis36.html
http://www.rayur.com/seborrheic-dermatitis.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น