วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

คุณแม่ตั้งครรภ์ ยาตัวไหนใช้ได้บ้าง? จะดูยังไง?


"เวลาท้องห้ามกินยานะ ยาตัวนี้กินไม่ได้ตัวนั้นก็กินไม่ได้ 
แต่คุณหมอบอกว่ากินได้  แล้วจะเชื่อใครดี ?
จะดูจากอะไรกันนะ???" 

การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มีผู้สนใจสอบถามกันมาเรื่อยๆ ด้วยความห่วงใยในเรื่องความปลอดภัยของการใช้ยาว่าจะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ของแม่หรือไม่ มาถึงตอนแรกเนี่ย เรามีหลักการแบ่งกลุ่มยาต่างๆ ว่าจะมีความเสี่ยงต่อตัวลูกน้อยอย่างไร มาแบ่งกันโดยคุณหมอเมษ์ FB ใกล้ชิดมิตรหมอ
ว่าควรมีหลักในการเลือกใช้ยาในระหว่างตั้งครรภ์อย่างไร เพื่อให้ได้ผลดีต่อสุขภาพและความปลอดภัยทั้งกับตัวแม่เอง และทารกที่กำลังเจริญเติบโตในท้องด้วย


5 กลุ่มยาที่ต้องเข้าใจ
การแบ่งยาตามกลุ่มต่างๆ จะช่วยให้ทราบว่าควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อตัวลูกน้อยและคุณแม่ระหว่างมีท้องได้อย่างไร 
รูปมาจาก http://pkuparlor.com/2012/04/06/maternal-pku-and-sapropterin/

โดยปกติการจะบอกว่ายาตัวไหนกินได้หรือไม่ได้ระหว่างตั้งครรภ์นั้นอาศัยข้อมูลจากการศึกษาการใช้ยา, จากการรวบรวมข้อมูลในอดีตถึงประโยชน์และโทษของการใช้ยาในระหว่างตั้งครรภ์ แล้วจัดกลุ่มของยา โดยที่คุณหมอนิยมนำมาใช้อ้างอิงก็จะเป็นการจัดกลุ่มยาตาม FDA Pregnancy Categories ซึ่งจะแบ่งยาออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้

Category A
เป็นยาที่มีข้อมูลจากการศึกษาที่มีการวางรูปแบบการวิจัยอย่างดีหลายการศึกษา (Adequate and well-controlled studies) พบว่าไม่ทำให้เกิดความพิการของทารกเมื่อใช้ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ และอาจจะไม่มีความเสี่ยงในไตรมาสต่อๆ มาด้วย เช่น วิตามินบางชนิด

Category B
เป็นยาที่มีการศึกษาในสัตว์ทดลองว่าไม่ทำให้เกิดความพิการในทารก แต่ไม่มีการศึกษาที่ดีเพียงพอในคน เช่น ยาฆ่าเชื้อบางอย่าง

Category C
เป็นยาที่มีการศึกษาในสัตว์ทดลองว่ามีผลทำให้เกิดความพิการของตัวอ่อน แต่ไม่มีการศึกษาในคนเพียงพอ ซึ่งถ้าความจำเป็นในการใช้ยามีมากกว่าก็สามารถใช้ยาได้โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง เช่น ยาฆ่าเชื้อบางชนิด

Category D
มีข้อมูลในคนว่ามีผลต่อทารกในครรภ์ จากข้อมูลที่รวบรวมจากงานวิจัยหรือประสบการณ์การใช้ยาที่ผ่านมา แต่ประโยชน์จากการใช้ยามีมากกว่า จึงจำเป็นต้องใช้ยาแม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อทารก เช่น ยากันชักบางชนิด ซึ่งจำเป็นต้องให้แม่เพื่อควบคุมอาการชัก แม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความพิการต่อทารกในครรภ์ แต่ถ้าไม่ควบคุมอาการชักก็จะเป็นอันตรายกับแม่ได้ โดยการใช้ก็จะมีรายละเอียดไปอีกว่าควรจะใช้ยาตัวไหนอย่างไร อันนี้ยากเกินไป ให้เป็นหน้าที่คุณหมอแล้วกันนะคะ

สุดท้ายละ Category X
มีรายงานทั้งในสัตว์และในคนว่าทำให้เกิดความพิการในทารก จากข้อมูลที่รวบรวมจากงานวิจัยหรือประสบการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งประโยชน์ของการใช้ยาในระหว่างตั้งครรภ์นั้นน้อยนิดเมื่อเทียบกับอันตราย เช่น ยาแก้สิว isotretrinoin ที่เคยพูดถึงไปแล้วก่อนหน้านี้นะคะ

ยาตัวไหนอยู่กลุ่มไหน สามารถพิมพ์ชื่อยาเข้าไปใน website ที่เคยแนะนำไปแล้ว Wikipedia, uptodate หรือ drugs.com ก็ได้

ซึ่งยาแต่ละตัวจะมีการจัดกลุ่มที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะเป็นยาที่รักษาโรคเดียวกันก็ตาม ต้องดูเป็นรายตัวไป ไม่สามารถที่จะเหมารวมเป็นกลุ่มได้ ยาตัวเดียวกันอาจจะอยู่ในกลุ่มต่างกันเมื่อใช้ในไตรมาสของการตั้งครรภ์ที่แตกต่างกัน และยาใหม่ๆ บางตัวก็ยังไม่ได้รับการจัดกลุ่มเพราะไม่มีข้อมูลเพียงพอ การใช้ยาในคนท้องจึงมีข้อจำกัด ส่วนมากคุณหมอก็มักจะใช้ยาที่ใช้กันมานานและมีข้อมูลชัดเจนแล้ว ดังนั้นในระหว่างการฝากครรภ์ จึงควรใช้ยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น

ความรู้เหล่านี้ในต่างประเทศค่อนข้างให้ความสำคัญ คนไข้จึงมีฐานข้อมูลที่จะเข้าไปค้นได้จากหลายแหล่ง แต่ของคนไทยมักจะเป็นความเชื่อหรือ "เค้าบอกว่า" ต่อๆกันมา ทำให้ค่อนข้างมีปัญหาในการใช้ยา เพราะยาที่ควรใช้กลับไม่ใช้ยาที่ไม่ควรใช้กลับใช้ แต่หลังจากนี้ชาวสมาชิกใกล้มิตรชิดหมอจะมีความรู้และสามารถแนะนำคนอื่นได้อย่างถูกต้อง คงช่วยลดปัญหาความเชื่อผิดๆ ได้นะคะ ^^

**อย่างไรก็ตามย้ำอีกรอบว่าแม้ว่าจะมีข้อมูลแล้ว แต่ไม่ควรซื้อยากินเองหรือสั่งการรักษาเองจากคนที่ไม่ใช่แพทย์ ควรใช้ยาตามที่จำเป็นและตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น เพราะแม้ว่ายาจะมีหลักฐานว่าปลอดภัย มันก็ยังมีรายละเอียดของการใช้ยาอีกเยอะแยะมากมาย ที่จะให้เกิดความปลอดภัย ปรึกษาคุณหมอและเป็นเด็กดีเป็นทางเลือกที่จะทำให้คุณแม่และลูกน้อยปลอดภัยที่ง่ายที่สุดคะ

แหล่งข้อมูล
หมอเมษ์, ใกล้ชิดมิตรหมอ, https://www.facebook.com/photo.php?fbid=141817785997014&set=a.146343522211107.1073741844.138161163029343&type=1&ref=nf

ยาที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์นิตยสารหมอชาวบ้าน ปีที่ 27 ฉบับที่ 317 กันยายน 2548
http://www.baby2talk.com/ยาที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์.html

รูปประกอบ
http://www.webmd.com/baby/ss/slideshow-pregnant-beauty

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น