วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ข้อเข่าเสื่อม พฤติกรรมอย่างไร ทำร้ายข้อเข่า???


ข้อเข่าเสื่อมนอกเหนือจากเสื่อมตามวัยแล้ว ยังเกิดจากการที่เราไม่เริ่มต้นดูแลเข่าของเรา ด้วยการมีพฤติกรรมที่ทำร้ายข้อเข่าจากจุดน้อยๆ แค่ปวดเมื่อย จนเสื่อมเสียสภาพมากขึ้นๆ และเกิดอาการเป็นโรคไขข้อเมื่อสูงอายุมากขึ้น เรามีคำแนะนำในการป้องกันการเสื่อมสภาเข่า และท่าบริหารในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม เพื่อบรรเทาอาการและชะลอการเสื่อมไม่ให้เจ็บป่วยอีกต่อไป

พฤติกรรมอย่างไร ทำร้ายข้อเข่า 
1.คนที่ชอบนั่งงอเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ หรือนั่งยอง ๆ เป็นประจำ จะเพิ่มแรงอัดภายในข้อเข่า ซึ่งจะรบกวนการนำอาหารไปสู่เซลล์กระดูกอ่อนผิวข้อ โรคข้อเข่าเสื่อมนี้ เริ่มจากการสึกหรอของกระดูกอ่อนผิวข้อโดยตรง และเมื่อเป็นมากขึ้นการสึกหรอจะลามไปยังองค์ประกอบอื่นของข้อเข่า เช่น ชั้นใต้กระดูกอ่อนซึ่งเป็นกระดูกแข็ง จะเกิดถุงน้ำข้างใต้กระดูก หมอนรองเข่าสึก เอ็นหุ้มข้อเข่าหนาตัวขึ้น มีกระดูกงอกบริเวณปลายกระดูก เป็นต้น 

2.กรณีน้ำหนักตัวมากเกินก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่เร่งให้เกิดอาการข้อเสื่อมเร็วขึ้น เพราะข้อเข่าต้องรับน้ำหนักตัวตลอดเวลาที่ใช้งานข้อ ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน หรือขึ้นลงบันไดก็ตาม 

3.การใส่รองเท้าส้นสูง จะทำให้ข้อเข่ามีแรงกดทับมากกว่าปกติ ทั้งยังทำร้ายข้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า เพราะเป็นอวัยวะที่ต้องรับน้ำหนักก่อนจุดอื่น ๆ ซึ่งเป็นจุดที่รับน้ำหนักได้ง่าย และหากคนที่ข้อเข่าไม่แข็งแรง หรือมีโครงสร้างร่างกายผิดปกติ จะมีผลกระทบมากกว่าคนปกติ

อาการข้อเสื่อม

ในระยะแรก จะสังเกตว่ามีเสียงดังขณะขยับข้อไปมา บางรายมีอาการข้อฝืดโดยเฉพาะเวลานั่งนาน ๆ หรือขณะเปลี่ยนอิริยาบถ จะเสมือนข้อถูกล็อกไว้ ต้องขยับไปมาสัก 2-3 ครั้ง จึงเหยียดเข่าออกได้ บางรายมีข้อบวมโต หรือมีบวมแดง มีน้ำภายในข้อ ซึ่งบ่งถึงการอักเสบที่เป็นมากขึ้นนั่นเอง ในรายที่เป็นมากอาจพบข้อติด ขยับไม่ได้เต็มที่ หรืออาจพบกล้ามเนื้อขาลีบเล็กลงกว่าข้างปกติ เป็นต้น

บริหารกล้ามเนื้อข้อเข่าเพื่อเพิ่มความแข็งแรง

การออกกำลังกายหรือกายบริหารนั้น ช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยเน้นกล้ามเนื้อหน้าขาหรือกล้ามเนื้อเหยียดเข่าเป็นหลัก ท่าบริหารข้างล่างนี้เริ่มจากง่ายไปยาก ดังนี้


ท่าบริหารในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม

ท่าที่ 1 ท่านอนเหยียดเข่า

เป็นท่าบริหารกล้ามเนื้อหน้าขา นอนหงายให้หมอนใบเล็กๆ หนุนใต้เข่าให้เข่างอเล็กน้อย เหยียดให้เข่าตรงที่สุด เกร็งไว้ 10 วินาที ทำทีละข้าง ข้างละ 20 ครั้ง ท่านี้เหมาะกับคนที่ปวดหรือมีการอักเสบของเข่า เมื่อ ทุเลาแล้ว ใช้หมอนรองให้เข่างอมากขึ้น หรืออาจใช้ถุงทรายหรือน้ำหนักถ่วงเพิ่มประมาณ 1-2 กิโลกรัมบริเวณข้อเท้าเพื่อเพิ่มความแข็ง แรงกล้ามเนื้อให้มากขึ้น ถ้าใช้ถุงทรายแล้วมีอาการปวดข้อเข่ามากขึ้นให้งดการใช้ถุงทราย แล้วปรึกษานักกายภาพบำบัด

ท่าที่ 2 ท่านอนคว่ำงอเข่า

เป็นท่าบริหารกล้ามบริหารกล้ามเนื้อหลังขา โดยนอนคว่ำ งอข้อเข่าข้างที่เคยปวด หรืองอไม่ได้เข้ามาให้มากที่สุด เกร็งไว้ 10 วินาที แล้วเหยียดออก ทำทีละข้าง ข้างละ 20 ครั้ง และอาจใช้ถุงทรายถ่วงเพิ่มน้ำหนักแรงต้านที่ข้อเท้าได้เช่นกัน ถ้าใช้ถุงทรายประมาณ 1-2 กิโลกรัมแล้วมีอาการปวดข้อเข่ามากขึ้นให้งดการใช้ถุงทราย แล้วปรึกษานักกายภาพบำบัด

ท่าที่ 3 ท่าย่อตัวลงนั่ง

ให้ยืนหันหลังให้ขาชิดขอบเก้าอี้หรือฝาผนัง ค่อยๆ ย่อเข่าทั้งสองลงนั่งแล้วค่อยๆ ลุกขึ้นยืน ทำช้าๆ หรืออาจหยุดเกร็งค้างไว้ที่ช่วงใดช่วงหนึ่ง เมื่อทำได้ดีแล้วให้เปลี่ยนเก้าอี้ให้เตี้ยลงเรื่อยๆ ทำท่าละ 20ครั้ง

ท่าที่4 ท่านั่งเก้าอี้แล้วเหยียดเข่า

ให้ผู้ป่วยนั่งเก้าอี้ แล้วจากนั้นค่อยๆเหยียดเข่าให้ตรง พร้อมกับกระดกข้อเท้าขึ้นค้างไว้ 10 วินาทีจากนั้นค่อยๆวางขาลงสู่ตำแหน่งเดิม ทำทีละข้าง ข้างละ 20 ครั้ง

การบริหารทุกท่าให้เริ่มทำจากน้อยไปมาก โดยทำชุดละประมาณ 20-30 ครั้ง วันละ 2-3 ชุด เป็นอย่างน้อย ค่อย ๆ เพิ่มตามความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบเข่าของแต่ละคน จนได้ประมาณ 100 ครั้งต่อวัน

ใช้ข้อเข่าอย่างถูกวิธี

การใช้ข้ออย่างถูกวิธี จะช่วยถนอมข้อเข่าให้สามารถใช้งานได้นานขึ้น ชะลอความเสื่อม ซึ่งวิธีการนั้นตรงข้ามกับพฤติกรรมซึ่งทำร้ายข้อนั่นเอง กล่าวคือ

• ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกิน

• เลี่ยงกิจกรรมที่ต้องงอเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ หรือการนั่งยอง ๆ

• ขึ้นลงบันไดเท่าที่จำเป็น หากอยู่บ้านชั้นล่างได้จะเป็นการดีมาก ไม่ต้องขึ้นลงบ่อย ๆ

• เลือกประเภทของการออกกำลังกายที่ไม่มีผลร้ายต่อข้อเข่า เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายในน้ำ เป็นต้น

• หมั่นบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดแรงกระทำต่อข้อได้

• ใช้สนับเข่าเท่าที่จำเป็น มักเลือกใช้ในรายที่ข้อเสียความมั่นคง แต่หากข้อยังมีความมั่นคงอยู่ การใช้สนับเข่า อาจทำให้กล้ามเนื้อโดยรอบเข่าอ่อนแรงได้

• หากมีอาการเจ็บข้อเข่ามากอย่างเฉียบพลัน อาจถือร่มหรือไม้เท้าในด้านตรงข้ามกับขาที่เจ็บ จะช่วยลดแรงกระทำต่อข้อ และลดอาการปวดได้

แหล่งข้อมูลและรูปประกอบ
  •  physicalagency.com
  •  Rama Channel True Visions 80 "พฤติกรรมทำร้ายข้อเข่า จนทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น