วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

นมผงเลี้ยงลูก...ทำไมจึงมีหลายแบบจังเลย เลือกยี่ห้อไหนดีนะ ?



คุณแม่คุณพ่อเมื่อมีสมาชิกใหม่มาเป็นลูกตัวเล็กๆในบ้าน จะงงมากเลยว่า นอกเหนือจากข้าวปลาอาหารแล้ว อาหารสำหรับลูกรัก อันได้แก่นมสำหรับเด็กและอาหารเสริมต่างๆทางการแพทย์ ทำไมถึงมีมากมายนัก  เรามีบทสรุปง่ายๆให้เข้าใจถึงอาหารนมสำหรับทารกและเด็กมาให้ได้เข้าใจอย่างง่ายๆกัน

กลุ่มที่ 1: นม
ผลิตภัณฑ์จากนมวัวปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ นมครบส่วน (whole milk) และ นมดัดแปลง (modified cow’s milk)

1.นมครบส่วน(Whole milk)
หมายถึง นมวัวที่มิได้ดัดแปลงปริมาณโปรตีน, คาร์โบไฮเดรตและไขมัน เมื่อนำมาผ่านกรรมวิธีทำให้แห้งจะได้ whole milk ชนิดผง เรียกว่านมผงชนิดธรรมดา นมดังกล่าวมีทั้งชนิดที่ไม่มีการเติมสารอื่นลงไปและชนิดที่เติมวิตามินเอและดี ชนิดที่เติมวิตามินและธาตุเหล็ก

น้ำนมที่ผ่านกรรมวิธีและจำหน่ายในรูปของเหลวแบ่งออกเป็น 4 ประเภทได้แก่ นมพาสเจอร์ไรซ์ (pasteurized), นมยูเอชที(UHT), นมสเตอริไลซ์(sterilized) และนมข้นไม่หวาน(evaporated milk)



whole milk ที่ไม่ผ่านการดัดแปลงทั้งในรูปผงแห้งและของเหลวสามารถนำมาใช้เลี้ยงทารกและเด็กอายุ 9-12 เดือนขึ้นไป

2.นมดัดแปลง (modified cow’s milk)



หมายถึงนมวัวที่ที่มีการปรับแต่งหรือดัดแปลงส่วนประกอบของนมวัวแบ่งออกเป็น 4 ประการคือ
ก. เพื่อใช้เลี้ยงทารกปรกติ ได้แก่ นมดัดแปลงและอาหารเสริมชนิดครบถ้วนสำหรับเด็ก
ข. เพื่อใช้เลี้ยงทารกที่มีภาวะดูดซึมบกพร่องได้แก่ low lactose milk
ค. เพื่อการควบคุมน้ำหนัก ได้แก่ นมพร่องมันเนยและนมขาดมันเนย
จ. เพื่อนำส่วนประกอบบางส่วนไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ นมแปลงไขมัน
ในเด็กทารกช่วง 6 เดือนแรกไม่สามารถย่อยและดูดซึมนมวัวได้ดี การให้นมที่ไม่มีการดัดแปลงจึงอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้  จึงมีการดัดแปลงส่วนประกอบต่างๆในนมวัวให้ใกล้เคียงนมแม่มากที่สุด



นมดัดแปลงสำหรับทารก หมายถึงอาหารที่ผลิตขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของนมวัวให้มีองค์ประกอบของสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอกับที่จะใช้เลี้ยงทารกให้ใกล้เคียงนมแม่มากที่สุด เพื่อความมุ่งหมายที่จะใช้เลี้ยงทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน แทนหรือทดแทนนมมารดา  แต่เมื่อทารกอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไปสามารถเปลี่ยนไปใช้นมที่มีโปรตีนสูงกว่าได้แก่ นมสูตรต่อเนื่องหรือนมครบส่วนได้ เนื่องจากไตของเด็กปกติอายุเกิน 6 เดือนสามารถขับของเสียที่เกิดขึ้นจากโปรตีนได้ดีขึ้นแล้ว

การปรับปริมาณสารอาหารต่างๆ ในนมวัว
มีแบบแผนการปรับดังนี้
1. ลดจำนวนโปรตีนลงเพื่อช่วยลดสารที่ขับทางไต  เนื่องจากนมวัวมีโปรตีนมากกว่านมแม่ถึง 3-4 เท่าซึ่งมากเกินไป
2. เพิ่มอัตราส่วน Whey : Casein โปรตีนในนมแม่มีอัตราส่วน Whey : Casein  เท่ากับ 60 : 40 แต่ในนมวัวมี Casein : Whey เท่ากับ 20 : 80
Whey ของนมแม่มีอัลฟาแลกตัลบูมินเป็นองค์ประกอบหลัก whey จากนมวัวมีเบต้าแลคโตกลอบูลินเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีแอนติเจนิซิตี้สูงก่อให้เกิดการแพ้นมวัวได้ง่าย
3. ปรับชนิดไขมัน นมแม่มีกรดไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าครึ่งส่วน นมวัวมีกรดไขมันอิ่มตัวที่มากกว่า ไขมันในนมดัดแปลงจะต้องมีสัดส่วนกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงกว่ากรดไขมันอิ่มตัว และมีอัตราการดูดซึมไม่น้อยกว่า 85% ของปริมาณที่ได้รับ
4. ลดปริมาณแร่ธาตุได้แก่ แคลเซียม, ฟอสฟอรัส และ โซเดียมซึ่งในนมแม่มีแร่ธาตุเหล่านี้ต่ำกว่านมวัว
5 .เพิ่มปริมาณสารอาหารที่จำเป็น เช่น ธาตุเหล็ก  เพราะธาตุเหล็กในนมวัวมีน้อยและดูดซึมได้น้อยกว่านมแม่ อาจมีการเติมกรดอะมิโนให้ใกล้เคียงกับนมแม่ เช่น  ทอรีน นิวคลีโอไทด์ อาร์จีนิน คาร์นิทีน โอลิโกซัคคาไรด์ เพราะเมื่อลดโปรตีนลงอาจทำให้ระดับกรดอะมิโนที่จำเป็นบางชนิดลดลงได้
ความแตกต่างระหว่าง นมดัดแปลงสำหรับทารกและนมดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก

นมดัดแปลงสำหรับทารก นมดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก
อายุที่ใช้ 0- 6 เดือน                                          ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
พลังงาน ต่ำกว่า                                               พลังงานสูงกว่า
โปรตีน ต่ำกว่า                                              โปรตีนสูงกว่า
คาร์โบไฮเดรต กำหนดปริมาณแลกโตส                    ไม่กำหนดปริมาณแลกโตส
วิตามิน ต่ำกว่า                                              วิตามินเอ บี 6 และ ดีสูงกว่า
ไม่มีการกำหนดปริมาณโคลีน
แร่ธาตุ ส่วนใหญ่กำหนดค่าต่ำกว่า                โซเดียม เหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัสสูงกว่า
ไม่กำหนดค่าสูงสุดของโปแตสเซียม คลอไรด์ ไอโอดีน
ไม่กำหนดปริมาณทองแดงและมังกานีส
กลุ่มที่ 2: อาหารทางการแพทย์สำหรับทารกและเด็ก

1. อาหารทางการแพทย์สำหรับทารกคลอดก่อนกำหนดเป็นอาหารทางการแพทย์สำหรับทารกคลอดก่อนกำหนดอายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ หรือมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,800 กรัม ( Premature formula)  ชื่อการค้า เอนฟาแล็ค พรีมาชัวร์ , Similac neosure และ พรีแนน
 


คุณสมบัติของอาหารทางการแพทย์สูตร ( Premature formula)
1. ให้พลังงานสูงกว่าอาหารทางการแพทย์สำหรับทารกคลอดตามกำหนด
2. อัตราส่วน Whey : Casein ใกล้เคียงกับนมแม่
3. คาร์โบไฮเดรต ดัดแปลงให้มีคาร์โบไฮเดรต 2 ชนิด คือ lactose และ Maltodextrin เพื่อเพิ่มการย่อย เนื่องจากทารกคลอดก่อนกำหนดมีเอนไซม์ glucoamylase ที่ย่อย maltodextrin มากกว่าเอนไซม์ lactase
4. ไขมัน ดัดแปลงให้มี medium-chain triglyceride (MCT) แทน long-chain triglyceride (LCT) บางส่วนเนื่องจากทารกคลอดก่อนกำหนด จะมีความบกพร่องในการย่อยและการดูดซึมไขมันชนิด LCT เนื่องจากมี bile pool น้อย
5. ปริมาณ sodium calcium phosphorus สังกะสีและทองแดงมากขึ้นเท่ากับปริมาณที่ทารกต้องการ
6. ปริมาณวิตะมินหลายชนิดมีมากขึ้น
7. ค่า osmolarity ใกล้เคียงกับ osmolarity ของนมแม่

2. อาหารทางการแพทย์สูตร Lactose free formula
สำหรับทารกและเด็กที่มีปัญหาขาดน้ำย่อย lactase ทำให้จุลินทรีย์ในลำไส้ นำน้ำตาล lactose ไปใช้ ทำให้เกิดการสร้างกรดและก๊าซ มีการดึงน้ำเข้ามาในลำไส้ ทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวเร็วขึ้น เกิดอาการท้องเสีย ส่วนก๊าซจะทำมีอาการแน่นท้อง ปวดท้อง เสียดท้อง ท้องอืด มีชื่อการค้า Olac (ปัจจุบันใช้ชื่อ Enfalac A+Lactofree) , Similac LF

 

คุณสมบัติของอาหารทางการแพทย์สูตร Lactose free formula
1. ดึงน้ำตาล lactose ออกจากนมและใช้ น้ำตาล sucrose และ maltodextrin แทน
2. โปรตีนจากนมวัว และไขมันเกือบทั้งหมดเป็น long chain triglyceride

3. อาหารทางการแพทย์สูตร Lactose free, soy-based  formula
สำหรับทารกและเด็กที่มีปัญหาแพ้นมวัวหรือมีปัญหาขาดน้ำย่อย lactase ชื่อการค้า Similac isomil advance , Enfalac Prosobee  (อ่านบทความเพิ่มเติม "โรคแพ้โปรตีนนมวัว")

 

การเกิดการแพ้นมวัวนั้น ส่วนใหญ่พบในทารกอายุน้อยกว่า 2 ปี ซึ่งในกลุ่มที่มีอาการรุนแรงเป็น anaphylaxis เกิดทันทีเมื่อได้รับ casein, -lactoglobulin หรือ lactalbumin เพียง 1 gm เท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ทารกจะมีอาการแสดง เช่น อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด อุจจาระเป็นน้ำ ปวดท้อง มีผื่นที่ผิวหนัง อาการเกิดใน 1-24 ชั่วโมง หลังจากได้รับนมปริมาณมากขึ้น และยังพบว่าทารกหลายรายได้รับนม 100 ml. ก็ไม่เกิดอาการเหล่านั้น  แต่เมื่อได้รับนมวัวปริมาณมากขึ้น เป็น 200 ml  แล้วจะเกิดอาการแพ้นมวัวขึ้นได้
อาการแสดงทางคลินิคของการแพ้โปรตีนนมวัวนั้น มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมงหลังการกินนมวัว ทำให้มารดาสงสัยว่าน่าจะเกิดการแพ้โปรตีนนมวัว แต่บางครั้งอาจเกิดอาการหลังจากการกินนมวัวภายใน 48 ชั่วโมง ดังนั้นเด็กทารกที่มีภาวะแพ้นมวัวจึงควรดื่มนมแม่ หรือเลือกสูตรนมที่ไม่ใช้โปรตีนจากนมวัว

คุณสมบัติของอาหารทางการแพทย์สูตร Lactose free ,soy-based  formula

1. ใช้กับทารกที่แพ้นมวัวและมีปัญหาขาดเอนไซม์ lactase
2. โปรตีนเป็นโปรตีนจากถั่วเหลือง (soy protein) โดยทำการเสริม limiting amino acid คือ methionine แล้ว
3. คาร์โบไฮเดรตจะไม่มี lactose โดยจะเปลี่ยนแปลงคาร์โบไฮเดรตเป็น sucrose และ corn syrup
4. ไขมันได้มาจากถั่วเหลือง ดอกทานตะวันและมะพร้าว

นอกจากนี้ยังมีสูตรพิเศษซึ่งมีการเปลี่ยนเป็นโปรตีนที่มีขนาดโมเลกุลเล็กลงคือสารย่อยสลายจากโปรตีนสายยาวเป็นสายสั้น (Extensive protien hydrolyzed formula) เนื่องจากผู้ป่วยที่แพ้นมวัวอาจแพ้นมถั่วเหลืองได้การใช้นมชนิดนี้ซึ่งไม่เป็นแอนติเจนจึงปลอดภัยกว่า ชื่อการค้าคือ นูตรามีเยน (Nutramigen)

4. อาหารทางการแพทย์สูตร Lactose free, medium chain triglyceride(MCT) formula
ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการย่อยการดูดซึมไขมันบกพร่องและคาร์โบไฮเดรต  ได้แก่ Pan-Enteral(ใช้ในผู้ใหญ่) , Neo-mune(ใช้ในผู้ใหญ่) , Pedisure (ใช้ในเด็กอายุมากกว่า 1 ปี)


เด็กที่มีปัญหาในการดูดซึมไขมัน จะพบอาการแสดง ได้แก่  อุจจาระลักษณะซีดและมีปริมาณมาก ท้องเสียแต่ไม่อาการท้องอืดร่วมด้วย อุจจาระใน fat malabsorption จะมีกลิ่นเหม็น ลักษณะเป็นมัน

คุณสมบัติของอาหารทางการแพทย์สูตร Lactose free, MCT formula
1. ไม่มี lactose ในสูตร แต่ใช้คาร์โบไฮเดรตอื่นแทน lactose ได้แก่ dextrin และ sucrose
2. มีไขมันในรูปของ MCT อยู่ประมาณ 40-50 % ซึ่ง MCT สามารถดูดซึมจากลำไส้เข้าสู่ตับได้โดยตรง ไม่ต้องอาศัย pancreatic lipase  และ bile salt

5. อาหารทางการแพทย์สูตร Protein hydrolysate,soy based formula
ใช้สำหรับผู้ป่วยที่แพ้นมวัวหรือแพ้โปรตีนชนิดอื่นๆ ได้แก่ NAN H.A.1, Enfalac H.A.

  

คุณสมบัติของอาหารทางการแพทย์สูตร Protein hydrolysate,soy based formula1. มีการดัดแปลงอาหาร 3 ชนิด ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมัน เหมาะสำหรับผู้ที่แพ้โปรตีนทั้งนมวัวและนมถั่วเหลือง
2. คาร์โบไฮเดรต ลดสัดส่วนของ lactose ลง ใช้ dextrin ทดแทน
3. โปรตีน เป็นโปรตีนจากถั่วเหลืองที่ผ่านการย่อยสลายมาแล้ว ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพ้ได้ดี โดยเสริม limiting amino acid คือ methionine แล้ว
4. ไขมัน ใช้ไขมันจากหลายๆ แหล่ง ไม่มี MCT  เพราะไม่มีความผิดปกติในการดูดซึมไขมัน
นอกจากนี้แล้ว NAN H.A. ยังมีการเพิ่มจุลินทรีย์ เพื่อช่วยการทำงานของลำไส้ด้วย

6. อาหารทางการแพทย์สูตรดัดแปลงคาร์โบไฮเดรต,โปรตีนและไขมันใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการย่อยและดูดซึมคาร์โบไฮเดรต,โปรตีนและไขมันบกพร่องเป็นสูตรที่ไม่มีแลคโตสมีการเติมไตรกลีเซอไรด์สายปานกลางและโปรตีนมีการย่อยสลายให้เป็นสายเล็กเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่แพ้โปรตีนจากทั้งนมวัวและนมถั่วเหลือง ชื่อทางการค้า Pregestimil พรีเจสติมิล ใช้เลี้ยงทารกที่มีภาวะ Galactosemia
นอกจากนี้ยังจัดอยู่ในกลุ่ม Extensively protein hydrolysed formula (กลุ่มเดียวกับ Nutramigen)


หมายเหตุ pregestimil ฉลากปัจจุบันเป็นพื้นเงิน (ในรูปพื้นสีทอง)
 7. อาหารทางการแพทย์สูตรอะมิโนแอซิด (Amino acid-based formula)เป็นสูตรนมที่มีโปรตีนที่ผ่านขบวนการย่อยเป็นกรดอะมิโน โดยที่ผู้ป่วยร้อยละ 2-10 ใช้สูตรนม Extensively hydrolyzed formula ยังมีอาการแพ้ จึงจำเป็นต้องใช้  Amino acid-based formula แต่นมชนิดนี้มีข้อจำกัดในการใช้ เนื่องจากราคาสูงและรสชาติที่ทารกรับได้ยาก ชื่อการค้าได้แก่ Nutramigen AA, Neocate LCP(อ่านบทความเพิ่มเติม "โรคแพ้โปรตีนนมวัว")
   
นีโอเคต Neocate อาหารทารก สูตรกรดอะมิโนครบถ้วน สำหรับทารกที่มีภาวะภูมิแพ้
Neocate กระป๋องสีฟ้า สำหรับเด็กที่อายุมากกว่า 1 ขวบ
ลักษณะสำคัญ

-มีกรดอะมิโนบริสุทธิ์ 100% ซึ่งเป็นโมเลกุลที่เล็กที่สุด และไม่ทำให้เกิดการแพ้
-มีสารอาหารครบถ้วนสำหรับเด็กอายุ 1-10 ปี เพื่อการเจริญเติบโตที่ต่อเนื่อง
-มี MCT oil 35% ซึ่งลำไส้สามารถดูดซึมไปใช้เป็นพลังงานได้ง่าย

8. นมสำหรับทารกที่มีอาการแหวะนมหรืออาเจียน A.R. anti regergitation

C. อาหารทางการแพทย์ชนิดอื่นๆ ที่ควรรู้จัก
Aminoleban-oral
 ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคตับ



Choice DM ใช้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

Ensure powder ใช้สำหรับผู้ป่วยทั่วไปที่ขาดสารอาหารหรือรับประทานอาหารไม่เพียงพอ



GEN-DM ใช้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน



Glucerna ใช้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน



Isocal ใช้สำหรับผู้ที่ต้องได้รับอาหารทางสายให้อาหาร



Neomune ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการพลังงานสูง เช่น ผ่าตัดลำไส้ แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกรุนแรง



Nepro nutrition liquid ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคไต




Nutren Optimum nutrition .ใช้สำหรับผู้สูงอายุ



Nutren fiber  nutrition ใช้สำหรับผู้ป่วยทั่วไปที่ต้องการเสริมเส้นใยอาหาร 



Pan-enteral ใช้สำหรับผู้ป่วยทั่วไป 



Peptamen ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาที่เกี่ยวกับระบบการย่อยอาหารและการดูดซึมต้องการโปรตีนเป็ปไทด์



แหล่งข้อมูล และรูปประกอบ:
1. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 266 เดือน-ปี : 06/2544
2. อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยเด็กและทารก เรียบเรียงโดย นศภ. กัญญ์วรา นิยม และ นศภ. ทัศนัย วงษ์เจริญชัย
3. จงจิตร  อังคทะวานิช, อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ, จุฬาภรณ์  รุ่งพิสุทธิพงษ์  คู่มือการเลือกใช้นมและอาหารทางการแพทย์ในเด็กและ . สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
4. กัลยาณี กิจทวีปวัฒนา. การพัฒนาผลิตภัณฑ์นมและอาหารสำหรับทารก. 2540  เอกสารวิชาการ กองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
5. นมและอาหารทางการแพทย์สำหรับเด็กและทารก, http://competencyrx.com/index.php?option=com_content&view=article&id=122:2010-06-30-08-09-18&catid=48:2010-03-22-09-59-11&Itemid=101
6. ภาพประกอบจาก http://www.cbsnews.com/2300-204_162-10004624-2.html

1 ความคิดเห็น: