วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

Free E-book รายงานระบบยาไทย ปี 2554



กพย.ผนึก อย. สปสช. มูลนิธิเภสัชชนบท ภาคประชาชน เปิดตัวหนังสือ “รายงานสถานการณ์ระบบยา ปี 54” รวบรวมสถานการณ์ยาไทย ชี้ปัญหาดื้อยาไทยเข้าขั้นวิกฤต แนะสร้างระบบเฝ้าระวังเข้มแข็งกว่าเดิม พร้อมหนุนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบยาแห่งชาติ ปี 55-59 หวังแก้ปัญหาระบบยาครบวงจร ทั้งการเข้าถึงยา-ยกระดับคุณภาพยา-ใช้ชื่อสามัญทางยา


หนังสือ “รายงานสถานการณ์ระบบยา ประจำปี 2554” โดย ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงาน กพย. กล่าวว่า การสร้างระบบเฝ้าระวังถือเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในระบบยา เพื่อส่งสัญญาณเตือนภัยต่อสังคม ร่วมกับการทำงานกับภาคียุทธศาสตร์ที่รับผิดชอบจะเป็นปัจจัยนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นจริง โดยหนังสือ “รายงานสถานการณ์ระบบยา ปี 2554” ถือเป็นการรวบรวมสถานการณ์และความสำเร็จของการทำงานร่วมกันของภาคีต่างๆในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีภาคียุทธศาสตร์ที่ทำงานร่วมกันได้แก่  อย. สปสช. มูลนิธิเภสัชชนบท ภาคประชาชน และ กพย. ปัจจุบันถือว่าการพัฒนาระบบยาประสบความสำเร็จขั้นที่หนึ่ง คือการผลักดันให้มีการประกาศใช้นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ 2555-2559 นับเป็นการกำหนดทิศทางที่จะให้ทุกภาคส่วนได้ทำงานพัฒนาระบบยาร่วมกันต่อไปในอนาคต
 “กพย. ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา จากการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น ซึ่งปัญหาเชื้อดื้อยาของไทยอยู่ในขั้นวิกฤตเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แม้จะมีระบบเฝ้าระวังแต่ยังขาดการส่งสัญญาณที่เพียงพอ ทำให้ยังพบการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ที่สำคัญยังมียาปฏิชีวนะกระจายอยู่ในชุมชน โดยเฉพาะร้านขายของชำ รวมทั้งพบการจ่ายยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมในระดับโรงพยาบาล ทำให้มูลค่ายาปฏิชีวนะมีมากเป็นลำดับ 1 ของมูลค่าการใช้ยาของประเทศ สิ่งที่ต้องทำต่อ คือ การสร้างระบบเฝ้าระวังการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งในคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม  การเน้นการทำงานประสานเครือข่ายวิชาการ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้” ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าว
ภญ.ดารณี เพ็ญเจริญ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้ทำหน้าที่ในการพัฒนาระบบยามาโดยตลอด  รูปธรรมตัวอย่างได้แก่ การวิจัยและพัฒนาระบบทบทวนทะเบียนตำรับยา ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้รายการยาในท้องตลาดมีความปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ อย.ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบข้อมูลยาที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและบุคลากรการแพทย์ เช่น  การจัดทำฉลากและเอกสารกำกับยามาตรฐาน และการพัฒนาโปรแกรมสืบค้นฉลากและเอกสารกำกับยาผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่ประชาชนและบุคลากรการแพทย์สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก  
ภญ.ปนัดดา ลี่สถาพรวงศา ผู้จัดการกองทุนยา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การจัดหายาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึง ถือเป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่ประชาชนต้องได้รับ โดยที่ สปสช.ได้ร่วมกับภาคีในการจัดหายาจำเป็น ทั้งที่เป็นยาติดสิทธิบัตรและยาราคาแพงในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น เช่น เฉพาะยาต้านไวรัสเอดส์ สามารถประหยัดงบประมาณ ได้ 4,500 ล้านบาท ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าการประหยัดงบประมาณทุก 300 ล้านบาทจะทำให้ผู้ป่วยเอดส์เข้าถึงยาได้ 10,000 ราย การจัดหายาต้านไวรัสราคาถูกได้ จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ 150,000 ราย นอกจากนี้  สปสช.ยังจัดหายากำพร้าซึ่งเป็นยาจำเป็นแต่ไม่สามารถหาซื้อได้ในท้องตลาดได้แก่ ยาต้านพิษ โดยการจัดหายาและจัดทำระบบสำรองยาดังกล่าวกระจายไปทั่วประเทศ”
ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชชนบท กล่าวว่า จากการพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวังการใช้ยาสเตียรอยด์ที่ไม่เหมาะสม พบว่า ปัจจุบันมีการใช้ยาสเตียรอยด์ไม่เหมาะสมอย่างแพร่หลาย จากผลการตรวจวิเคราะห์ยาแผนโบราณของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สมุทรสงคราม ระหว่างปี 2548-2552 พบการเจือปนของสารสเตียรอยด์หลายรายการ แม้ว่าจะมีแนวโน้มที่ลดลง จาก 30.5% ในปี 2548 ลดลงเหลือ 12.7% ในปี 2552 แต่กลับพบปริมาณสารสเตียรอยด์ที่พบทั้งในยาชนิดผง ยาเม็ด ลูกกลอน และ ยาน้ำ  มีปริมาณค่อนข้างสูงกว่าเดิมมาก หากกินติดต่อกันเป็นเวลานานก็จะเสี่ยงอันตรายมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาระบบการเฝ้าระวังทางกฎหมาย เช่น การกำหนดลักษณะเอกลักษณ์ของเม็ดยาตั้งแต่การขึ้นทะเบียนตำรับยา การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการปรับปรุงระบบรายงานเพื่อให้สามารถติดตามการกระจายยาที่มีประสิทธิภาพ  เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสุขภาพ
น.ส.กชนุช แสงแถลง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล มีสาเหตุมาจากการใช้ยา ทั้งจากการใช้ไม่ถูกต้อง และอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการไม่รู้จักชื่อสามัญของยา ทำให้เกิดปัญหาการใช้ยาซ้ำซ้อน ได้รับยาเกินขนาด ส่งผลให้ได้รับอาการข้างเคียงของยาโดยไม่จำเป็น  บางครั้งเกิดการแพ้ยาซ้ำซาก โดยไม่รู้ว่าแพ้ยาอะไร ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิตได้ ปัญหาดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ได้รณรงค์ให้มีการระบุชื่อสามัญทางยาในซองยาที่จ่ายให้ผู้ป่วย และรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนให้เข้าใจประโยชน์การทราบชื่อสามัญทางยา ซึ่งเริ่มต้นดำเนินการไปแล้ว 5 จังหวัด ทั้งในระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากหน่วยบริการก่อน ซึ่งยังจำเป็นต้องขยายโครงการออกไปเพื่อให้เกิดการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ


Free E-Book 
“รายงานสถานการณ์ระบบยา ปี 54” 
รวบรวมสถานการณ์ยาไทย


http://www.thaidrugwatch.org/download/otherprint/2011_drug_system_report.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น