วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

มะเร็งปากมดลูก มะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในหญิงไทย

มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในหญิงไทย บ้านเรายังพบผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะลุกลามแล้วจำนวนมาก สร้างปัญหาต่อการรักษา ทั้งในด้านอัตราการหายจากโรคภาวะแทรกซ้อน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งของครอบครัวและประเทศชาติ

สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก
จากการศึกษาพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ และการศึกษาถึงระบาดวิทยาของโรคพบว่าโรคนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคทางเพศสัมพันธ์ และอาจพบร่วมกับการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์บางชนิด

ปัจจุบันนักวิจัยตรวจพบว่าเชื้อไวรัสที่เรียกว่า HPV โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ 16, 18 เป็นสาเหตุประมาณ 70% ของการเกิดมะเร็งปากมดลูก อีกประมาณ 30% เกิดจาก HPV ชนิดอื่นๆ เชื้อไวรัสตัวนี้เกือบทั้งหมดติดมาจากการมีเพศสัมพันธ์

ภาพประกอบ: Advanced cervical cancer may causebleeding or discharge จาก
cdc.gov
ระยะก่อนมะเร็ง
เมื่อผู้หญิงได้รับเชื้อเอชพีวีซึ่งเกือบทั้งหมดได้มาจากการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนใหญ่ร่างกายจะสามารถกำจัดมันไปได้เองประมาณ 90% ภายในเวลา 6-12 เดือน ถ้าเชื้อเอชพีวียังคงอยู่อาจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุปากมดลูกให้กลายเป็นเซลล์ผิดปรกติ คือเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็ง ซึ่งแบ่งเป็น 3 เกรด (เกรด 1-3)

  1. สำหรับเกรด 1 นั้นมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ประมาณ 1 ใน 3 ของชั้นล่างของเยื่อบุผิวปากมดลูก ซึ่งผู้ป่วย 80% จะหายจากโรคนี้ไปได้เองในเวลา 1 ปี การตรวจพบภาวะนี้ในครั้งแรกอาจไม่ต้องการรักษาอะไรเลย เพียงนัดตรวจติดตามเป็นระยะๆ แต่ถ้าพบว่ายังมีรอยโรคอยู่การรักษามีหลายวิธี เช่น การจี้เย็น จี้ด้วยไฟฟ้า หรือเลเซอร์ ซึ่งให้ผลใกล้เคียงกัน
  2. สำหรับระยะก่อนมะเร็งเกรด 2 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุปากมดลูกถึง 2 ใน 3 จากชั้นล่าง และเกรด 3 มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ตลอดความหนาของเยื่อบุปากมดลูกนั้น แพทย์จะให้การรักษาเลย เพราะการปล่อยทิ้งไว้จะพัฒนากลายเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุด

ระยะก่อนมะเร็งจะพัฒนาเป็นมะเร็งใช้เวลาประมาณ 10 ปี ความผิดปรกตินี้สามารถตรวจพบได้ โดยการตรวจคัดกรอง โดยทั่วไปแนะนำให้รับการตรวจปีละครั้ง ถ้าพบในระยะนี้การรักษากระทำได้ง่าย ค่าใช้จ่ายต่ำ โอกาสหายเกือบ 100% ภาวะแทรกซ้อนก็มีต่ำ ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยังอาจเก็บมดลูกสำหรับการตั้งครรภ์ได้

ป้องกันได้หรือไม่
โรคนี้มีลักษณะการเกิดคล้ายโรคทางเพศสัมพันธ์ สตรีใดที่มีความเสี่ยงต่อโรคทางเพศสัมพันธ์ย่อมมีความเสี่ยงต่อโรคนี้สูง และหลังจากติดเชื้อส่วนใหญ่ร่างกายสามารถกำจัดไปได้ ส่วนน้อยซึ่งยังคงมีเชื้ออยู่ก็จะทำให้เซลล์ที่ปากมดลูกเปลี่ยนแปลงไปเป็น “ระยะก่อนมะเร็ง” ซึ่งโดยทั่วไปตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกลายเป็นมะเร็งเฉลี่ยระยะเวลาประมาณ 10 ปี จึงเป็นโอกาสที่สามารถตรวจพบโรคด้วยการตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ระยะก่อนจะกลายเป็นมะเร็ง

ในประเทศที่พัฒนาแล้วการคัดกรองประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้ประเทศเหล่านี้มีผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปากมดลูกน้อยมาก แต่ในประเทศเราการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีปัญหาหลายประการ ที่สำคัญที่สุดเกิดจากสตรีไม่มารับบริการตรวจ

ปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้ป้องกัน HPV ชนิด 16 และ 18 แล้ว การฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้ได้ จึงสามารถป้องกันมิให้มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูกที่เกิดจากไวรัส 2 ชนิดนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ไวรัส 2 ชนิดนี้เป็นสาเหตุประมาณ 70% ของโรค ยังเหลืออีก 30% ที่อาจจะเกิดจาก HPV ชนิดอื่น ผู้ได้รับการฉีดวัคซีนจึงต้องได้รับการตรวจคัดกรองเป็นระยะๆอยู่

แหล่งข้อมูล : 
รศ.นพ.พีรพงศ์ อินทศร , โลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 352 วันที่ 24 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 หน้า 51 คอลัมน์ พบหมอศิริราช

ภาพประกอบ : 
HPV, human papilloma virus, cervical cancercancervaccine, paralysis
articles.mercola.com

Cervical Cancer Vaccine Presented for 1st Time in Bulgaria
novinite.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น