วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

คุณแม่ตั้งครรภ์กับการใช้ยา โดยเภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล

คุณแม่ที่เริ่มต้นตั้งครรภ์ทุกคนก็อยากให้ลูกที่เกิดมามีสุขภาพแข็งแรง รวมทั้งมีสติปัญญาและอารมณ์ดี ช่วงระยะการตั้งครรภ์ที่คุณแม่กำลังฟูมฟักลุกในครรภ์ บางครั้งจำเป็นต้องใช้ยา มาฟังคำแนะนำเพื่อการใช้ยาอย่างปลอดภัยทั้งลูกรักและตัวคุณแม่เอง
ยามีผลอย่างไรกับเด็กในครรภ์
ในช่วง 3 เดือนแรกของระยะตั้งครรภ์ เจ้าตัวเล็กในครรภ์จะมีการเจริญเติบโตและสร้างอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ถ้ามียาหรือสารบางชนิดไปจะกระทบกระเทือนต่อการแบ่งเซลล์ จะทำให้อวัยวะนั้นมีความผิดปกติหรือหยุดเจริญ ซึ่งจะผิดปกติมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะของการตั้งครรภ์และปริมาณของสารที่ได้รับ
สารเหล่านี้ ได้แก่ สารเคมีต่างๆ เครื่องดื่มที่มีอัลกอฮอลล์ นิโคตินจากบุหรี่ และอื่นๆ ส่วนผลของยาจากแม่ที่จะส่งผลต่อทารกในช่วงต่างๆ ของการตั้งครรภ์ นอกเหนือจากยาต่างๆ จะมีผลต่อลูกน้อยในครรภ์ระยะ 3-4 เดือนแรกแล้ว ยาบางอย่างอาจจะมีผลต่อลูกในระยะใกล้คลอด หรือมีผลต่อการแข็งตัวของเลือดในระหว่างการคลอดได้











รูปประกอบ: ยาบางตัวจะมีผลต่อเด็กในครรภ์อย่างมา จาก 
Drugs can have a harmful effect on individuals especially pregnant women.
drugssociety.blogspot.com
คุณแม่ซื้อยากินเอง ความไม่รู้ที่น่าเสียใจ
ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วว่ายาหลายตัวอาจจะมีอันตรายต่อลูกของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ จึงไม่ควรซื้อยามาทานเอง ถ้ามีปัญหาการเจ็บป่วยควรไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร  
คุณแม่เองก็คงอยากจะทราบว่ายาอะไรบ้างที่มีผลต่อการคลอดและหลังคลอด ขอยกตัวอย่างยาที่คุณแม่มีโอกาสใช้และจะมีอันตราย ในกลุ่มต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. ยาปฏิชีวนะและยาแก้อักเสบ
ยาแก้อักเสบในภาษาชาวบ้านหรือเป็นกลุ่มยาปฎิชีวนะ ที่คุณแม่มักหาซื้อมาทานเองบ่อยมาก เนื่องจากบางครั้งจะมีอาการเจ็บคอเล็กน้อย หรือเป็นหวัดก็ซื้อยาแก้อักเสบมาทานเอง โดยไม่ทราบว่ายากลุ่มนี้ไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะไข้หวัดส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งใช้ยาแก้อักเสบไม่ได้ผล การทานยาแก้อักเสบบ่อยๆ นอกจากเสียเงินแล้ว ยังอาจจะทำให้ดื้อยา จึงไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ ยิ่งไปกว่านั้นสำหรับคุณผู้หญิงจะตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม การใช้ยาแก้อักเสบบ่อยๆ จะทำให้ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อราได้ โดยมีอาการตกขาวและคันช่องคลอดมาก
·         เตตราซัยคลีน ที่ชาวบ้านเรียกยาแคปซูลสีแดง-เหลืองใช้รักษาอาการติดเชื้อ จะมีผลต่อการสร้างกระดูกและฟันของลูก ถ้าใช้ไปลูกของคุณจะมีฟันออกสีเหลืองไปชั่วชีวิต ไม่สามารถแก้ไขได้เลยครับ
·         ซัลฟา ถ้าใช้ยาช่วง 2-3 อาทิตย์ก่อนคลอดอาจจะทำให้ทารกคลอดออกมาแล้วตัวเหลือง
·         คลอแรม กดการทำงานของไขกระดูกที่สร้างเม็ดเลือดทำให้เลือดจาง เด็กที่เกิดมาจะตัวเขียว (Gray Syndrome) ซีด ท้องป่อง และอาจจะช็อกเสียชีวิต
·         สเตรปโตมัยซิน อาจจะทำให้ลูกหูตึงหรือหูหนวก
·         คลอโรควิน และควินิน ที่ใช้รักษาโรคมาลาเรียหรือไข้จับสั่น อาจจะทำให้แท้งบุตร
·         ถ้าคุณแม่เกิดอาการติดเชื้อ ต้องใช้ยาปฎิชีวนะ ก็มียากลุ่ม เพนนิซิลิน และแอมพิซิลิน เป็นยาที่ปลอดภัยสำหรับหญิงมีครรภ์ ยกเว้นผู้ที่แพ้ยาเท่านั้น แต่ไม่แนะนำให้ไปซื้อทานเองนะครับ ควรไปขอคำแนะนำจากแพทย์เสียก่อน
2. ยาบรรเทาอาการปวดและลดไข้
·         แอสไพริน ถ้าทานเมื่อใกล้คลอด อาจจะไปยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือดของทารกในครรภ์ ทำให้เลือดไหลไม่หยุด
·         พาราเซตามอล ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า ยาพารา เป็นยาแก้ปวดและลดไข้ที่ใช้ได้ปลอดภัยในผู้ตั้งครรภ์ เพราะยังไม่มีรายงานว่าทำให้ลูกน้อยเกิดความพิการหรือผิดปกติแต่อย่างใด
·         คุณแม่หลายคนก่อนตั้งครรภ์เคยมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว หรือที่เรียกว่าเป็นไมเกรน (migraine) เมื่อตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดศีรษะในกลุ่มที่มีเออโกตามีนเพราะยากลุ่มนี้ทำให้มดลูกบีบตัว อาจจะทำให้แท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้
3. ยาแก้คัน แก้แพ้
·         คลอเฟนิรามีน ยาเม็ดเล็กๆสีเหลืองที่ใช้แก้แพ้ ถ้าคุณแม่ใช้ชั่วคราวอาจไม่ส่งผลมากนัก แต่ถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ ลูกที่เกิดมาอาจจะมีเลือดไหลผิดปกติ
·         ส่วนยาแก้แพ้ตัวใหม่ๆ ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีรายงานยืนยันความปลอดภัยของคุณแม่และลูกในครรภ์ จึงยังไม่แนะนำให้ใช้ครับ หากมีอาการภูมิแพ้ ควรบรรเทาด้วยวิธีการอื่นครับ
4. ยาบรรเทาอาการไข้หวัด
·         ที่โฆษณากัน ขายเป็นแผงน่านแหละครับ ในหนึ่งเม็ดยาจะประกอบด้วย ยาลดไข้ปวดพาราเซตามอลและยาแก้แพ้หรือยาลดน้ำมูก ถ้าใช้ชั่วคราวบรรเทาอาการหวัดในชั่วระยะเวลาสั้นๆ โดยทั่วไปไม่มีอันตรายอะไร แต่ถ้าต้องใช้ยานานๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์
·         คุณแม่ไม่ควรซื้อยาชุดแก้หวัด โดยไปบอกอาการพร้อมกับระบุความต้องการว่าขอเป็นยาชุดแก้หวัดตามร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชกรหรือยาชุดแก้หวัดที่วางขายตามร้านขายของชำ เพราะยาชุดเล่านี้มักมียาแก้แพ้ รวมทั้งยาแก้อักเสบบางอย่างและสเตียรอยด์ปนมาด้วย ซึ่งมีอันตรายต่อลูกคุณอย่างแน่นอน
5. ยานอนหลับและยากล่อมประสาท
·         บางครั้งการเปลี่ยนสภาพร่างกายรวมทั้งความเครียดอาจทำให้คุณแม่นอนหลับยากขึ้น มีความจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว มีคำแนะนำให้ไปขอคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้นครับ ไม่ควรซื้อมาใช้เองเมื่อนานไม่หลับ เพราะถ้าใช้ยาในขนาดมากๆ จนคุณแม่เกิดอาการติดยา ลูกที่เกิดมาอาจจะมีอาการหายใจไม่ดี เคลื่อนไหวช้า มีอาการคล้ายคนติดยา ชักกระตุก นอกจากนี้อาจจะทำให้มีเลือดออกผิดปกติในตัวเด็กอีกด้วย
6. ยารักษาเบาหวาน
·         ถ้าคุณแม่เคยใช้ยาฉีดพวกอินซูลินก็ยังใช้ได้ ไม่มีอันตราย แต่ถ้าคุณแม่ต้องทานยาเม็ดควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเข้าไป จะทำให้น้ำตาลในเลือดของทารกต่ำ และมีรายงานว่ายากลุ่มนี้ทำให้ทารกพิการได้ ลองปรึกษาหมอว่าคุณแม่เบาหวานควรดูแลสุขภาพอย่างไร จะปลอดภัยกว่าครับ
7. ยากันชัก
·         อาจทำให้เกิดความพิการทารกโดยมีใบหน้าผิดปกติ จมูกแบน ตาห่าง หนังตาตก บางชนิดอาจจะทำให้เลือดของทารกแข็งตัวช้า
8. ยาบรรเทาอาการไอ
·         ยาหยุดการไอชนิดที่ไม่มีไอโอดีน ไม่ควรใช้เลย เพราะอาจทำให้ทารกเกิดอาการคอพอก และมีอาการผิดปกติทางสมองได้
·         ควรใช้ยากลุ่มละลายเสมหะ ชนิดที่ไม่ดูดซึมไปสู่ลูกในครรภ์ เพื่อให้เสมหะอ่อนตัว ละลายออกมาได้ง่ายจะปลอดภัยกว่า
8. ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
·         ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์มาก อาจจะทำให้คุณแม่ท้องเสีย และอาจเป็นอันตรายต่อเด็กในท้องได้
·         ยากลุ่มอื่นๆ ต้องไปหาหมอเพื่อขอคำแนะนำในการใช้ยาอย่างปลอดภัยครับ
10. ยาแก้อาเจียนหรือยาแก้แพ้ท้อง
·         ควรให้หมอหรือเภสัชกรเป็นผู้สั่งยา อย่าซื้อยาทานเองจากร้านที่ไม่ใช่เภสัชกรเป็นอันขาด อย่าเสี่ยงอวัยวะ ชีวิตและความสุขของลูกคุณกับร้านยาที่ไม่มีเภสัชกรมาคอยดูแลเลย
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์โปรดระลึกไว้เสมอเลยว่าไม่ควรซื้อยาทานเองเด็ดขาด พยายามทานยาให้น้อยที่สุด เวลาแวะไปตรวจครรภ์กับสูตินารีแพทย์  ควรแวะร้านยาข้างบ้านหรือโรงพยาบาล สอบถามเภสัชกรใจดีได้เลยครับ เภสัชกรพวกเราพร้อมเสมอให้คำแนะนำในการใช้ยาให้คุณลูกและม่ามี้นั้นปลอดภัยจริงๆ ครับ
แหล่งข้อมูล
Drugs in Pregnancy and BreastfeedingWorld Health Organization 2002
Drug Use during Pregnancy, Merck Manual Online Medical Library
นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ข่าวสด วันที่ 7 สิงหาคม 2546 ปีที่ 13ฉบับที่ 4634

รูปประกอบจาก
Effects of Drugs in Pregnancy
aforeverrecoverybattlecreek.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น