วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

ไส้เลื่อนรู้ไว้เพื่อรักษา โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล


หากวันหนึ่ง เราไปคลำพบสังเกตเห็นก้อนโป่งนูนขึ้นบริเวณท้อง คลำได้ก้อนนิ่ม กดไม่เจ็บ หรือไปพบว่ามีก้อนตุงที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของผนังหน้าท้องรวมทั้งบริเวณขาหนีบและอัณฑะ อย่าได้วางใจเพราะเราอาจกำลังมีอาการที่เป็นโรคไส้เลื่อนอยุ่ก้อได้


ทำไมไส้จึงเลื่อนได้
ที่เรียกว่าไส้เลื่อนนั้นคือคนไข้จะมีลำไส้บางส่วนไหลเลื่อนออกมาตุงอยู่ที่ผนังหน้าท้อง ทำให้เห็นเป็นก้อนบวมตรงบริเวณใดบริเวณหนึ่งของผนังหน้าท้อง ไส้เลื่อนมีอยู่หลายชนิด จะแสดงอาการออกมาต่างกันและมีภาวะแทรกซ้อนรวมไปถึงการรักษาแตกต่างกันไป ขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น
ในภาวะปกติ ลำไส้เราจะอยู่ภายในช่องท้องหากถ้ามีช่องทางที่ผิดปกติ จนเป็นเหตุให้ลำไส้หรือเยื่อบุช่องท้องออกมาภายนอกได้ เราจึงเรียกว่า "ไส้เลื่อน" ซึ่งเกิดได้หลายตำแหน่งเช่น ขาหนีบสองข้าง อัณฑะ สะดือ ช่องกระบังลม ช่องว่างของกล้ามเนื้อเราเองที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือช่องที่เกิดจากรอยแผลผ่าตัดเก่า ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ไส้เลื่อนที่ขาหนีบสองข้าง ไส้เลื่อนที่ขาหนีบนี้พบได้ประมาณร้อยละ 1-2 พบได้บ่อยในเด็กโตและผู้ใหญ่ และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเป็นสิบๆ เท่า
ในเด็กอ่อนก้อเกิดได้
เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดาระยะที่เป็นตัวอ่อน จะมีช่องทางติดต่อกับอัณฑะในผู้ชาย หรือแคมใหญ่ในผู้หญิง เมื่อเจริญเติบโตส่วนใหญ่ช่องทางนี้จะปิดไปเองตามธรรมชาติ ในบางคนเท่านั้นที่ยังมีช่องทางนี้เปิดอยู่ และเกิดเป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบขึ้น
กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้
·      คนไข้ที่มีปัญหาความดันภายในช่องท้องสูงขึ้นอยู่บ่อยๆ เช่น ในผู้ที่ไอเรื้อรังจากการสูบบุหรี่หรือโรคปอด พอไปยกของหนักหรือเบ่งถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ทำให้เกิดความดันในช่องท้องดันลำไส้มาในตำแหน่งที่เป็นจุดอ่อนได้ในที่สุด

  • ·      มีความผิดปกติมาแต่กำเนิด ทำให้เกิดไส้เลื่อน อาจเป็นตั้งแต่เด็กหรือในวัยหนุ่มสาวจนถึงวัยสูงอายุได้
  • ·      ผู้ที่มีอายุมาก ผนังหน้าท้องจะอ่อนกำลังลง ไม่อาจทนต่อความดันที่เกิดขึ้นภายในช่องท้องนานๆ ได้
  • ·      เพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยเฉพาะไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบและอัณฑะทั้งสองข้าง ส่วนในหญิงมักเกิดระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้กล้ามเนื้อและผนังช่องท้องหย่อน อ่อนกำลังลง
  • ·      ความอ้วน การมีไขมันหน้าท้องมากๆ ทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนกำลัง
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคไส้เลื่อน
ให้สังเกตุอาการดังต่อไปนี้

  • ·      หากเราไปคลำพบ สังเกตเห็นก้อนโป่งนูนขึ้นบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน คลำได้ก้อนนิ่ม กดไม่เจ็บ หรือไปพบว่ามีก้อนตุงที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของผนังหน้าท้อง รวมทั้งบริเวณขาหนีบและอัณฑะ  
  • ·      เจ้าก้อนที่ว่า มักจะโป่งนูนขึ้นเวลาเรายืน หรือออกแรงเบ่ง ทำให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ก้อนจะยุบลงและหายไปได้เวลานอนพัก ถ้าใช้มือลูบดันก้อนจะกลับเข้าที่
  • ·      อาการมักเป็นๆ หายๆ ก่อนเป็นมักจะมีการออกแรงมากๆ มาก่อน แล้วรู้สึกเหมือนมีการฉีดขาดของเอ็นหรือพังผืดบริเวณขาหนีบ แล้วจึงเกิดก้อนขึ้นที่บริเวณขาหนีบนั้น
  • ·      เมื่อเป็นนานๆ ก้อนจะค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ และเลื่อนลงมาในถุงอัณฑะ ทำให้รู้สึกปวดถ่วง รำคาญ และทำงานไม่สะดวก การปล่อยทิ้งไว้นานๆ ต่อไปมักเกิดโรคแทรกขึ้นได้
  • ·      ถ้าก้อนนั้นมีลักษณะแข็ง โตขึ้น แดงร้อนหรือเจ็บปวด หรือมีอาการปวดท้อง หรืออาเจียนร่วมด้วย ก็ควรจะรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

ไปหาหมอเพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษา
เราไปพบแพทย์ จะได้รับการวินิจฉัยโรคไส้เลื่อนจากอาการแสดงและสิ่งตรวจพบ ในรายที่ไม่แน่ใจ แพทย์อาจส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เป็นต้น
การรักษาขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของไส้เลื่อน
·      ถ้าทารกเป็น ส่วนใหญ่แพทย์จะไม่ทำอะไร ซึ่งมักจะค่อยๆ ยุบหายไปได้เอง ยกเว้นในรายที่ก้อนโตมาก ให้ใช้ผ้าพันรอบเอวกดสะดือที่จุ่นไว้ไม่ให้ลำไส้ไหลเลื่อนลงมา รอจนอายุ 2 ขวบ ถ้ายังไม่หายอาจต้องผ่าตัด
·      ถ้าเป็นไส้เลื่อนที่เกิดหลังผ่าตัด ถ้าก้อนไม่โตมาก และไม่มีอาการอะไร อาจให้เฝ้าดูอาการไปเรื่อยๆ แต่ถ้าก้อนโตมาก หรือมีอาการปวดท้อง ก็อาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด
·      ส่วนไส้เลื่อนที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะ แนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดอาจรอได้เพื่อเตรียมรับการผ่าตัด แต่รายที่เป็นไส้เลื่อนชนิดติดคา เป็นก้อนแข็งและเจ็บปวดมาก และยิ่งมีภาวะลำไส้อุดกั้นก็อาจมีอาการปวดท้อง อาเจียนร่วมด้วย แพทย์จะต้องรีบทำการผ่าตัดแบบฉุกเฉิน เพื่อป้องกันไม่ให้ลำไส้เน่า       
คำแนะนำในการผ่าตัด
ขบวนการผ่าตัดจะทำโดยการตัดหรือเลาะถุงไส้เลื่อนออกแล้วเย็บปิด กรณีผู้มีไส้เลื่อนไม่ใหญ่มาก และกล้ามเนื้อแข็งแรง แต่ในรายที่ไส้เลื่อนขนาดใหญ่มาก กล้ามเนื้อหย่อนไม่แข็งแรง จะผ่าตัดโดยใช้แผ่นใยสังเคราะห์แผ่นใหญ่ช่วยเย็บปิด เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกลับเป็นซ้ำได้อีก
ป้องกันไม่ให้เป็นได้ไหม
โรคนี้ยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ส่วนไส้เลื่อนที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ด้วยการผ่าตัดแก้ไขเสียแต่เนิ่นๆ
อยากทราบทุกคำตอบของเรื่องยา กรุณาส่งซองคำถามของคุณมาได้ที่อีเมล์ utaisuk@gmail.com หรือแวะไปที่ Facebook “UTAI SUKVIWATSIRIKUL” หรือ “PHARMATREE” ยินดีตอบรับทุกท่านครับ
แหล่งข้อมูล
เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล สงวนลิขสิทธิ์ 14 กย. 2554  
E-mail: utaisuk@gmail.com Facebook: “UTAI SUKVIWATSIRIKUL

ห้ามนำบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ โดยผู้เขียนไปเผยแพร่เชิงพาณิชย์ ให้นำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานหรือเพื่อการศึกษาเท่านั้นผู้ประกอบการเว็บไซต์ต้องยึดหลักความเคารพและคำนึงถึงลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนและจริยธรรมทางธุรกิจ

การนำเอาบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งผลิตขึ้นโดยผู้เขียนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตซ้ำเพื่อเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาและ Copy url address ไปด้วยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถลิ้งค์กลับมาอ่านบทความจากเว็บไซต์ ของผู้เขียนได้โดยตรง

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ไม่แนะนำให้คุณนำไปใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรคด้วยตนเอง ขอความกรุณารับคำปรึกษาได้โดยตรงจากเภสัชกรร้านยาใจดีที่พร้อมดูแลสุขภาพพ่อแม่พี่น้องนะครับ



  1. ·      Andrew N Kingsnorth, Hernia Surgery: From Guidelines to Clinical Practice, Plymouth Hernia Service, Peninsula Medical School, Derriford Hospital, Plymouth, UK, Ann R Coll Surg Engl. 2009 May; 91(4): 273–279.
  2. ·      Simons MP, et al, European Hernia Society guidelines on the treatment of inguinal hernia in adult patients., Hernia. 2009 Aug;13(4):343-403. Epub 2009 Jul 28.
  3. ·      Bret A Nicks, Hernai, MD  Assistant Professor, Assistant Medical Director, Department of Emergency Medicine, Wake Forest University Health Sciences,  WebMD LLC., http://emedicine.medscape.com/article/775630-overview
  4. ·      Dr.Ben  Wedro , Hernia , Clinical Professor in the Department of Medicine, University of Wisconsin-Madison and Adjunct Faculty at the University of Wisconsin-La Crosse. He has previously held teaching appointments at the University of Oklahoma and the Medical College of Wisconsin., http://www.emedicinehealth.com/hernia/article_em.htm
  5. ·      รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ,ไส้เลื่อน , นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 362 เดือน-ปี : 06/2552, http://www.doctor.or.th/node/7516
  6. ·      ไส้เลื่อน, โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา, http://www.bangkokpattayahospital.com/th/main.php?module=healthtips;sub=detail;id=62
  7. ·       ภาพประกอบจาก http://img.webmd.com/dtmcms/live/webmd/consumer_assets/site_images/articles/health_and_medical_reference/mens_health/hernia.jpg

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น