วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

“แม่ชีมหัศจรรย์ ตบหาพิษให้อัจริยะสร้างได้” จริงหรือไม่? โดยเภสัชกรอุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล


มีคนส่งกระทู้นี้ “แม่ชีมหัศจรรย์ "ตบหาพิษ" ให้ "อัจริยะ สร้างได้” ว่าคุณหนู xx celeb คนนึงที่รู้จักกันดีจาก ไปค้นพบวิธีการรักษาล้างพิษแบบใหม่ที่คนอัจฉริยะเท่านั้นค้นพบและนำมาสรรเสริญกัน คือการ "ตบหาพิษ" โดย คุณแม่ชี ที่เป็นผู้จัดคอร์สล้างพิษตับและถุงน้ำดีให้กลุ่มหนูดีและเพื่อนๆ เจ้าตัวก้อมานำเสนอว่าต่อให้ดูแลร่างกายดีอย่างไร ไม่ว่า

“เราทานอาหารดีแล้ว ทานวิตามินด้วย แล้วจะไม่มีพิษสะสมในร่างกาย..ดูแขน คุณหนู xxเป็นตัวอย่างได้เลยค่ะ
คุณหนู xx ทั้ง Detox ทั้งทำ Chelation หรือ การล้างพิษออกจากเลือด และอีก ฯลฯ แถมทานอาหารออร์กานิกสม่ำเสมอ แต่....ก็มีพิษตกค้างเพียบ”

จริงหรือไม่ ว่ามีการสะสมพิษเช่นนั้น ในฐานะเภสัชกรร้านยา ขอตอบด้วยความรู้ในทางสรีระวิทยา และเภสัชวิทยา ดังนั้น จัดไปครับ


รอย “ตบพิษ” หรือจะเป็นบาดแผลฟกช้ำ
จากข้อมูลและแนวทางการเข้ารับการ “ตบพิษ” พอจะสรุปและขออธิบายในแนวทางการเกิดโรคว่า น่าจะเกิดจากการที่โดนแรงตบลงไปกระแทกไปโดนเนื้อเยื่อบริเวณ แขนมากกว่า และหากมีโอกาสเชิญมาตรวจดู น่าจะเป็นการฟกช้ำหรือ Bruise ไม่น่าจะเป็นการที่สารพิษที่มีอยู่ในร่างกายโดนตบรีดออกมาแต่อย่างใด

Bruise หรือรอยแผลฟกช้ำคือมีการรั่วของเลือดออกมาบริเวณเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังโดยรอบๆ ส่วนมากจะเกิดจากแรงกระแทก ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดเล็กๆ ใต้ผิวหนังแตกและมีเลือดรั่วไหลออกมา
ดังนั้นรอยฟกช้ำที่มีสีคล้ำดำและม่วง แล้วค่อยๆ จางเป็นสีเหลืองรอยฟกช้ำถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสีผิวของผิวหนัง เกิดจากการมีเลือดออกจากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังที่ได้รับบาดเจ็บ แล้วรวมตัวกันบริเวณใกล้ผิวหนังชั้นบนสุด ทำให้มองเห็นเป็นรอยสีคล้ำดำและม่วง
ดังนั้น “รอยพิษ” ที่น่าจะเข้าใจผิดจากความไม่รู้ของอจฉริยะรายนี้ ก้อน่าจะเป็นรอยฟกช้ำของเลือดที่ออกมาในชั้นผิวหนังนั่นเอง ไม่ได้เป็นสารพิษใดๆซึมออกมาตามอิทธิฤทธิ์ของแม่ชีมหัศจรรย์ แต่อย่างใด

เราเองก้อคงเคยเป็นแผลแบบนี้มาก่อนแล้ว เมื่อคุณประสบอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ เช่นโดนของหล่นใส่  ประตูหนีบ  หกล้ม ชนโต๊ะหรือตกบันได นั่นไงครับ รอยแผลช้ำช่วงแรกๆ จะเป็นสีแดงๆ แต่จากนั้น มันจะค่อยๆ เปลี่ยนสีไปเป็นสีม่วง หรือ เทา สีเขียว และกลายเป็นสีน้ำตาลในที่สุด ซึ่งการเปลี่ยนสีของมัน เกิดจากเลือดที่ไหลรั่วออกมาถูกแปรสภาพและทำลายไป ซึ่งแต่ละช่วงก็ให้สีที่ต่างกัน โดยขบวนการเปลี่ยนสีจะใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ตั้งแต่เลือดไหลรั่วออกมาจากหลอดเลือดที่ได้รับความเสียหาย แล้วแต่ความรุนแรงของการโดนชน ตบ ตี และการรักษาตัวของร่างกายเราเองแต่ละคนนั่นเอง โดยทั่วไปรอยฟกช้ำนี้จะจางหายไปเองประมาณ 2 สัปดาห์

แผลฟกช้ำต่างจากแผลถลอกและแผลฉีกขาดตรงที่บริเวณผิวหนังของรอยฟกช้ำจะไม่มีรอยแยกเป็นแผลให้เห็น จึงทำให้ไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ อาจมีอาการปวดบวมอักเสบร่วมด้วย หรืออาจมีอาการช้ำในได้ เนื่องจากได้รับการกระแทกอย่างแรงจนอวัยวะที่อยู่ภายในร่างกายบอบช้ำ
เจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ แต่ถ้ามีอาการเจ็บมาก มักเกิดอาการฟกช้ำบริเวณเหนือกระดูก เพราะเป็นเนื้อเยื่อที่มีโอกาสเกิดเลือดคั่งมาก

รูปรอยแผลฟกช้ำ จาก 
http://a4.ec-images.myspacecdn.com/images02/87/f5eeb153094c4517ac4a5a876b194723/l.jpg

ถ้าการฟกช้ำมีแค่ เลือดออกใต้ผิวหนังก็ไม่มีอะไรมาก แต่ที่มีอะไรคือการบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียงหรือ Assocoiated injury เช่น หกล้มหัวกระแทก มีกระดูกหัก หรือมีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อร่วมด้วย จะมีอาการตามมาที่รุนแรงกว่า ควรรีบไปรับการรักษาทันที

บาดแผลฟกช้ำ ดูแลอย่างไรให้หายเร็ว
ไม่ต้องเป็นอัจฉริยะ หากได้มีโอกาสเรียนรู้และเเข้าใจพื้นฐานการเกิดโรคแล้ว ก้ออย่าได้ตระหนก เป็นได้ ไม่รุนแรง ก้อรักษาได้  ไม่ต้องออกสื่อแสดงความไม่รู้ออกมาแต่อย่างใด การใช้ความเย็น-ความร้อนถือเป็นวิธีการรักษาแผลฟกช้ำที่ดีที่สุด เรามีแนวทางการดูแลดังนี้

·      หากมีแผลฟกช้ำเกิด อย่าเพิ่งตกใจ ให้ตั้งสติ ตรวจดูรอยโรค และหากมีอาการโลหิตไหลออกมา ก้อให้ ห้ามเลือดที่ออกมา เพื่อลดการบอบช้ำและการอักเสบของกล้ามเนื้อและโครงสร้างต่างๆ
·      ก่อนอื่นให้รีบประคบด้วยความเย็น โดยใช้ถุงประคบเย็นที่มีขายตามร้านขายยา หรืออาจทำถุงน้ำแข็งประคบเย็นที่ห่อด้วยผ้าขนหนู หรือผ้าสำลีแช่น้ำเย็นบิดพอหมาดวางประคบแทนได้ นำมาวางประคบบนรอยช้ำนานประมาณ 10 นาที ไม่ควรทิ้งไว้นานเกินกว่านั้น รอเวลาอีก 20 นาที จึงประคบใหม่อีกครั้ง ทำเช่นนี้ต่อเนื่องกัน 2-3 ครั้ง การประคบด้วยความเย็นนี้เพื่อลดการไหลเวียนของเลือดจะช่วยให้รอยช้ำไม่เข้มมากนัก และการประคบเย็นจะช่วยลดทำให้หลอดเลือดมันหดตัว เลือดไหลซึมออกมาลดลง และยังลด enzymes และสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอักเสบลงอีกด้วย
·      ส่วนเรื่องการทายาวันแรก อาจไม่จำเป็นมากเท่าไหร่ครับ ถ้าจะใช้ ก้อแนะนำให้ใช้ Voltaren emulgel, Reparil gel, หรือ Counterpain Cool ทุกตัวเป็นสูตรยาเย้นที่มีตัวยาบรรเทาอาการปวด ร้อน บวม แดงจากการอักเสบของใต้รอยผิว การทายาก็ทาบางๆ ครับ ไม่ต้องทาหนาเตอะ เพราะส่วนที่ยาจะทำงานจะเป็นเพียงชั้นที่มันสัมผัสผิวกับเราเพียงชั้นเดียว นอกจากนั้นการพันผ้าหรือ bandage จะช่วยเรื่องการดูดซึมตัวยาลงสู่ชั้นผิวหนังได้เพิ่มขึ้นด้วย ถ้ามีอาการปวดเจ็บมากจนรำคาญหรือรบกวนการทำงาน แนะนำให้กินพาราเซตตามอลหรือไอบูโปรเฟน ทั้งคู่ให้ผลในการบรรเทาปวดได้ดี
·      นอกจากการประคบเย็นแล้ว ในช่วงวันแรกที่แนะนำให้ทำคือ การพักครับ อย่าไปขยับบริเวณนั้นมาก เช่น หลีกเลี่ยงการขยับไปมา เพื่อป้องกันไม่ให้แผลฟกช้ำแย่ลงไปอีก ส่วนสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงวันแรกคือ การบีบนวดและการทายาที่มีส่วนผสมของยาสูตรร้อนได้แก่ Methylsalicylate ในยาจำพวกยาหม่องที่มีฤทธิ์ร้อนหรอืยาถูนวด เช่น Counterpain, Neotica balm เพราะจะทำให้เกิดอาการอักเสบ ทำให้อาการแย่ลงไปมากกว่าเดิมเข้าไปอีก
·      สุดท้าย ให้พักรอยแผลจนครบ  24 ถึง 48 ชั่วโมง หลังจากนั้น  ก้อให้เปลี่ยนจากประคบเย็นเป็นประคบอุ่นแทน เเมื่อทำให้รอยฟกช้ำเย็นตัวลงครบ 24 ชั่วโมงแล้ว ให้เริ่มประคบความร้อน โดยใช้ผ้าจุ่มน้ำอุ่นๆ บิดพอหมาด หรือใช้ถุงประคบร้อนที่สามารถนำเข้าอุ่นในเตาไมโครเวฟให้ร้อน แล้วนำมาประคบรอยฟกช้ำครั้งละ 20 นาที วันละ 2 - 3 ครั้ง เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเลือดและกำจัดเลือดที่คั่งอยู่ออกไป
สาเหตุที่เปลี่ยนเช่นนี้ ก้อเพราะว่าเราต้องการกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตและเซลล์ต่างๆ รวมทั้งออกซิเจน ที่จะเดินทางมาซ่อมแซมรอยแผลช้ำบวมนั้นๆ  เพราะพวกยานี้ให้ฤทธิ์คล้ายๆ กับการประคบอุ่น คือ มันทำให้หลอดเลือดขยายตัว จะทำให้รอยฟกช้ำค่อยๆ จางลง

ส่วนการพันผ้าจะพอช่วยให้ลดการเคลื่อนไหว ทำให้อาการไม่แย่ลง ไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำเสมอไป ส่วนการนวด ไม่แนะนำให้ทำเป็นอันขาด ควรหลีกเลี่ยงครับ  หากไปเจอหมอนวดที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมมาตามหลักทางการแพทย์ ก้ออาจจะไปทำให้ซ้ำเติมแผลช้ำบวมให้แย่ลงไปอีก

รับฟังข้อมูลที่เป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ทางเภสัชกรรมแล้ว ก้อนำไปดูแลแผลฟกช้ำบวมให้คนที่รักในครอบครัวเราได้เลยครับ ส่วนเรื่องตบพิษนั้นได้ผลจริงหรือไม่? ในฐานะเภสัชกร อยากจะบอกให้จำไว้ว่า การรักษาแบบแพทย์ทางเลือกนั้น จะได้ผลดีต่อการรักษา ก้อต่อเมื่อ ต้องเป็นขบวนการรักษาที่ถูกต้อง ตรวจสอบได้ ไม่ขัดขวางการรักษาหลักหรือช่วยให้ผู้ป่วยสบายขึ้น และราคามูลค่าการรักษาต้องไม่แพงแบบเอาเปรียบคนป่วยให้ทุกข์ยากลงไปอีก

แหล่งข้อมูล
แม่ชีมหัศจรรย์ "ตบหาพิษ" ให้ "อัจริยะ สร้างได้",

Skin Problems & Treatments Health Center, Bruises, WebMD, LLC, http://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/bruises-article?page=2&rdspk=active

Bruise, Linda J. Vorvick, MD, Medical Director, MEDEX Northwest Division of Physician Assistant Studies, University of Washington School of Medicine. Also reviewed by David Zieve, MD, MHA, Medical Director, A.D.A.M., Inc., http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/007213.htm

Ballas M, Kraut EH. Bleeding and bruising: a diagnostic work-up. Am Fam Physician. 2008 Apr 15;77(8):1117-24.

Brinker MR, O’Connor DP, Almekinders LC, et al. Physiology of Injury to Musculoskeletal Structures: 1. Muscle and Tendon Injury. In: DeLee JC, Drez D Jr, Miller MD, eds. DeLee and Drez’s Orthopaedic Sports Medicine. 3rd ed. Philadelphia, Pa: Saunders Elsevier; 2009:chap 1, section A.

มูลนิธิหมอชาวบ้าน, แผลฟกช้ำ, http://www.doctor.or.th/node/1376

ลักษณะของบาดแผลและการรักษาบาดแผล, http://www.healthcarethai.com/การรักษาบาดแผล, http://www.healthcarethai.com/การรักษาบาดแผล/

ลักษณะทางบาดแผลต่างๆ , สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, http://www.violence.in.th/publicweb/NewsList.aspx?type=6

การปฐมพยาบาล, นศภ.บรรดาศักดิ์ ตั้นมณีกูล และทีมงาน, ภาควิชาชีวเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร,

รูปประกอบจาก
bruise, http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/imagepages/19675.htm


http://aussiecazdesigns.blogspot.com/2009_09_01_archive.html

http://a4.ec-images.myspacecdn.com/images02/87/f5eeb153094c4517ac4a5a876b194723/l.jpg

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น