วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ยาที่ใช้รักษามีอะไรบ้าง?


โรคหัวใจตีบตันมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจมีลักษณะตีบและอุดตัน โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานไขมันมากเกินไปและไขมันไปเกาะที่หลอ ดเลือดหัวใจ ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงหัวใจไม่สะดวก ส่งผลให้หัวใจขาดออกซิเจน เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ เรามาดูว่ายาที่ใช้ในการรักษามีตัวไหนกันบ้าง


อาการของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
เส้นเลือดหัวใจตีบ มีอาการได้หลายอย่าง อาการที่พบบ่อยคือ อาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือปวดเค้น ในขณะออกกำลังกายคือ ถ้านั่งอยู่เฉยๆอาจไม่รู้สึกว่าเป็นอะไร แต่เมื่อออกแรงเดิน หัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้น ซึ่งต้องขึ้นกับการไหลของเลือดตามหลอดเลือด ถ้าหลอดเลือดตีบเลือดจะไหลได้ไม่พอ จึงเกิดอาการหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อขาดเลือด ซึ่งทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก บางครั้งอาการจะแสดงเมื่ออาบน้ำเย็นหรือหลังรับประทานอาหาร เนื่องจากหลังรับประทานอาหาร หัวใจจะทำงานมากขึ้น เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงที่ลำไส้ อาการอื่นๆที่อาจพบได้ ได้แก่ อาการเหนื่อยง่าย ปรกติผู้ป่วยเคยเดินได้ 3-4 กิโลเมตรอย่างสบายแต่ต่อมาผู้ป่วยเดินเพียงครึ่งกิโลเมตร ก็รู้สึกเหนื่อยเร็วกว่าปรกติ บางคนอาจไม่มีอาการอะไรเลยอยู่ดีๆเส้นเลือดหัวใจตันและเกิดอาการแน่นหน้าอกขึ้นมากะทันหันทั้งๆที่ไม่เคยเป็นมาก่อนได้

วิธีการวินิจฉัยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
นอกจากการซักประวัติอาการข้างต้นที่กล่าวมาแล้วนั้น อาจจะต้องมีการตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจคลื่นหัวใจขณะออกกำลังลังกายโดยการเดินสายพาน อาจจะต้องตรวจสารกัมมันตภาพรังสีแล้วดูว่าสารกัมมันตภาพรังสีที่เข้าไปในหลอดเลือดหัวใจสม่ำเสมอทุกเส้นหรือไม่ อาจจะต้องไปตรวจด้วยการสวนหัวใจ

ใครบ้างที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

ผู้ที่มีอัตราเสี่ยงต่อเส้นเลือดตีบสูง ได้แก ผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่มานาน นอกจากนั้นผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ประวัติครอบครัวที่มีคนเป็นโรคหัวใจ ประวัติว่ามีความเครียดในการทำงานเช่น นักธุระกิจที่ทำงานยุ่งเหยิงตลอดวัน ผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายนั่งๆนอนๆอยู่กับบ้าน

การรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

- การรักษาโดยใช้ยา 
- การรักษาโดยการขยายเส้นเลือดที่ตีบด้วยบอลลูน ใส่ขดลวดเข้าไปในเส้นเลือดหัวใจ โดยไม่ต้องผ่าตัด
- การรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งจะมี2วิธีวิธีแรกจะทำการผ่าตัดต่อเส้นเลือดหัวใจ โดยใช้เส้นเลือดจากแขนหรือขา มาต่อค่อมอ้อมจุดที่ตีบตัน ที่เรียกว่า การทำby pass และวิธีที่สองคือการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจใหม่ ซึ่งจะใช้เป็นกรณีสุดท้าย

ยาที่ใช้รักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

ยาสำหรับรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ มีหลายตัวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่


1. Aspirin
เป็นยากลุ่มแรกที่ใช้กันบ่อยๆ aspirin อาจไม่ใช่ยารักษาโรคหัวใจโดยตรง แต่ยาตัวนี้สามารถป้องกันและลดอัตราเหตุการณ์ร้ายแรงหรือฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้น ช่วยลดอัตราการเกิดการตีบตันของหลอดเลือด ใช้ได้ในทุกกรณีของเส้นเลือดหัวใจตีบไม่ว่าจะก่อนการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหลังกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือในขณะที่เส้นเลือดในหัวใจตันไปหมดแล้ว


2.Nitrate
ยากลุ่มนี้เป็นยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ออกฤทธิ์ขยายหลอดดำและหลอดเลือดแดง ยากลุ่มเป็นยาที่เลือกใช้เป็นอันดับแรก ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบได้แก่ ชนิดฉีด ชนิดอมใต้ลิ้น ชนิดพ่น ชนิดแผ่นแปะหน้าอก และชนิดรับประทาน การเลือกใช้ยาชนิดไหนก็จะขึ้นกับระยะเวลาที่ต้องการออกฤทธิ์ เช่น ถ้าผู้ป่วยมีอาการเฉียบพลัน จะใช้ชนิดฉีดเข้าทางน้ำเกลือ ซึ่งออกฤทธิ์รวดเร็วทันที หรือใช้ชนิดอมใต้ลิ้น ชนิดพ่น ซึ่งจะออกฤทธิ์เร็วประมาณ 1-5 นาที ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง ยาที่ใช้รักษาหรือป้องกัน จะเลือกใช้ชนิดชนิดรับประทาน หรือชนิดแผ่นแปะหน้าอก ซึ่งออกฤทธิ์ปานกลางหรือยาวนาน ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ nitroglycerin,Isosorbide niditrate, Isosorbide mononitrate


3. Beta blocker
กลุ่มยาbeta blocker คือยานต้านระบบประสาทอัตโนมัติชนิดเบต้ารีเซพเตอร์ ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์โดยลดการเต้นของหัวใจให้ช้าลงและลดการบีบตัวของหัวใจให้อ่อนลง ช่วยลดการทำงานของหัวใจให้เหมาะสมกับเส้นเลือดที่มีการตีบและไหลได้น้อยลง โดยทำให้ความต้องการออกซิเจนของกล้ามเนื้อลดลงไปพอๆกับปริมาณเลือดที่ไหลน้อยลงไปด้วย ทำให้เกิดการสมดุลขึ้นมา เปรียบเสมือนกับ สินค้าส่งออก กับสินค้านำเข้า ถ้าส่งออกได้น้อย ก็ต้องนำเข้าน้อย เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนใช้กันอยู่ได้โดยไม่เกิดการขาดทุน 
ยาในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มถัดมาที่เราจะพิจารณาใช้หลังจากกลุ่ม nitrate นอกจากนี้ยาในกลุ่มนี้ยังใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงอีกด้วย ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ propranolol,metoprolol,atenolol


4. Calcium antagonist
กลุ่มยา Calcium antagonist คือยาต้านแคลเซียม เป็นยาซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด อาจจะเป็นทั้งหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดส่วนปลาย ซึ่งเราใช้ในการลดความดันด้วย แต่ถ้าเรานำมาใช้ในแง่เส้นเลือดหัวใจตีบ อาจจะช่วยขยายเส้นเลือดหัวใจส่วนที่ยังพอจะขยายออกได้ ยาในกลุ่มนี้ใช้ได้ในกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่เคยเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจตายไปแล้วยาตัวนี้อาจได้ผลไม่ดี ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ nifedipine, diltiazem, verapamil


5. ACE inhibitor (Angiotensin Converting Enzyme Inhibitor)
ยากลุ่ม ACE inhibitor ออกฤทธิ์ต้านระบบ renin angioten system ในระบบร่างกาย ช่วยลดไม่ให้หัวใจขยายตัวมากขึ้น ยากลุ่มนี้มักจะใช้ในผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ enalapril, ramipril


6. Trimethazine
เป็นยาเพิ่มพลังงานในหัวใจให้แก่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งเรามักจะใช้ในรายซึ่งรักษาด้วยยาตัวอื่นแล้วไม่ได้ผล


ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ในยาที่ใช้รักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

ผลข้างเคียงของยาที่เกิดขึ้นไม่มาก ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักจะทนต่อยาได้ดี 
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของยา aspirin คือ เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร 
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของยากลุ่ม nitrate ได้แก่ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของยากลุ่ม beta blocker ได้แก่ มึนงง ไม่สบายท้อง อ่อนล้า
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของยากลุ่ม Calcium antagonist ได้แก่ ปวดศีรษะ หน้าแดง ใจสั่น บวมน้ำ ท้องผูก 
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของยากลุ่ม ACE inhibitor ได้แก่ ไอ ความดันโลหิตต่ำ
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของยากลุ่ม Trimethazine ได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ มีไข้ ไม่สบายท้อง


ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
เมื่อทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบแล้ว ต้องทราบว่าโรคนี้เมื่อเป็นแล้วไม่หายขาด การรักษาไม่ว่าจะทำบอลลูน หรือการผ่าตัด by pass เป็นการประทังโรคให้อาการดูดีขึ้น โรคมักจะมีอาการมากขึ้นอย่างช้าๆ หรือว่าเร็วขึ้นทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของเรา ถ้าเราปฏิบัติตัวหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ไม่กินไขมัน ควบคุมความดัน ความคุมเบาหวานให้ดี หยุดการสูบบุหรี่ ก็จะทำให้การดำเนินของโรคช้าลง เพราะฉะนั้น เราต้องรู้จักป้องกันการรุกรานออกไปของโรค ต้องไปพบแพทย์เป็นประจำและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งคัด


แหล่งข้อมูล

 ผศ.ภก. วันชัย ตรียะประเสริฐ

ภาพประกอบ
https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhki-tAh6LmssK-L40nkdzP6I50JsgyBXVYUXp1ZeCYetHTthTTmRGhNMutGHslbH8Bx3-H8ufoKT1g9tZVHBwYjlNYK44VyvQfpVi4hNBkVeoF3NvhRUiUIK9P_zNh5FT-eDoUkWuMVDI/s1600/Drug+and+heart.bmp

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น