วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กำจัดเชื้อราในบ้านหลังน้ำลดอย่างง่ายๆ และได้ผล โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล

หลังจากผ่านมหาอุทกภัยไปแล้ว เมื่อเรากลับไปบ้าน น้ำที่ท่วมขังอยู่นาน นอกจากจะก่อให้เกิดความสกปรกอยุ่แล้ว ปัญหาต่อเนื่องที่ตามมาก้อคือ "เชื้อรา" ที่อาจเติบโตมาจากเชื้อที่แพร่มากับมวลน้ำ หรือบ่มเพาะเองมา จากความชื้นที่เป็นปัจจัยทำให้เชื้อรากลายเป็นเชื้อร้ายเติบโตมาเกาะกินเฟอร์นิเจอร์ 
เชื้อนี้ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้กับบ้านเท่านั้น อาจส่งผลต่อสุขภาพของคนในบ้าน โดยเฉพาะลูกรักของเราที่เป็นหอบหืด ภูมิแพ้ หรือโรคในระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ของเราที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งอาจแพ้และไวต่อการติดเชื้อรา ดังนั้น มารุ้จักวิธีง่ายๆในการดูแลเพื่อป้องกันและกำจัดปัญหาเชื้อรา อย่างได้ผลและปลอดภัยกันดีกว่า 

การแก้ไขปัญหาเชื้อราในบ้าน
  • เตรียมตัวให้พร้อม
    1. วันที่กลับไปดูบ้านหลังจากน้ำท่วม ไม่ควรให้คนในบ้านที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด โรคในระบบทางเดินหายใจ เด็ก และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ กลับเข้าบ้านจนกว่าจะทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อย
    2. แต่งกายให้รัดกุมโดยการสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมถุงมือยาง รองเท้ายาง เอี๊ยมกันน้ำ หมวกคลุมผม แว่นตา และหน้ากาก
    3. สำหรับแว่นตาควรเลือกแบบที่แนบสนิทกับใบหน้าและไม่มีรูระบายอากาศ ในบริเวณที่พบเชื้อราควรใช้หน้ากากชนิด N-95 ที่มีขนาดเหมาะสมกับใบหน้า เพื่อป้องกันการสูดดมเอาเชื้อโรคและเชื้อราเข้าไป (สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาและเวชภัณฑ์) ทั้งนี้หน้ากากกันฝุ่นและผ้าเช็ดหน้าไม่สามารถกันเชื้อราได้ เนื่องจากสปอร์ของเชื้อรามีขนาดเล็กมาก
    4. เปิดหน้าต่าง ประตูเพื่อระบายอากาศและความชื้นให้ออกไปจากตัวบ้านอย่างน้อย 30 นาทีก่อนเข้าไปในตัวบ้าน และควรเปิดหน้าต่าง ประตูบ้านให้อากาศถ่ายเทสะดวกระหว่างทำความสะอาดบ้าน

  • เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาด 
    1. เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาด ได้แก่ แปรงขัด น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาฆ่าเชื้อ อาจซื้อแบบสำเร็จรูป หรือสามารถทำได้เองง่ายๆ
    2. น้ำยาฆ่าเชื้อราที่สามารถทำได้เอง ได้แก่
      • น้ำส้มสายชู ของแท้ที่ได้ผสมอะไรมาก่อนนะครับ เราสามารถนำมาเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อราอย่างอ่อน สามารถฆ่าเชื้อราได้ประมาณ 80% แต่ไม่สามารถฆ่าสปอร์ได้ จะเลือกใช้ชนิดหมักหรือกลั่นก็ได้ ควรมีความเข้มข้นอย่างน้อย 7% อาจฉีดพ่นทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที แล้วเช็ดออก ควรระวังในการกระเด็นเข้าตา เพราะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน
      • ผลิตภัณฑ์ฟอกขาวที่มีส่วนผสมของสารประกอบคลอรีน หรือชื่อทางเคมีว่า sodium hypochlorite เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อราชนิดเข้มข้น เราสามารถหาซื้อได้ง่าย ก้อหลายยี่ห้อที่มีขายน่านแหละครับ ดูๆสูตรว่ามีเจ้าตัวนี้อยุ่ น้ำยาฟอกขาว Sodium Hypochlorite ที่ซื้อมาใช้ ข้างขวดจะบอกความเข้มข้มต่างกันไป ยกตัวอย่าง ไฮเตอร์ขวดฟ้า-ชมพู จะมีความเข้มข้น 6.25% ถ้าจะเตรียมไว้ใช้ฆ่าเชื้อราอย่างง่ายๆ คือ ตวงน้ำยาจากขวดไฮเตอร์ 1 ฝา (ใช้ฝาอะไรก็ได้ตวง) ใส่ถังไว้ แล้วตวงน้ำประปา 9 ฝา จะได้ Sodium Hypochlorite 0.625% ก้อเพียงพอต่อการไปใช้แล้ว แต่ทุกครั้ง ก่อนใช้ ให้ผสมใหม่ทุกครั้งก่อนใช้งานเท่า เนื่องจากสารละลายดังกล่าวพอผสมแล้ว ไม่ได้ใช้ มันจะเสื่อมสภาพได้เร็ว 
                  ข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์ฟอกขาว
      1. ห้ามผสมผลิตภัณฑ์ฟอกขาวกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอมโมเนียหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอื่นโดยเด็ดขาด เนื่องจากทำให้เกิดก๊าซที่เป็นอันตรายและเป็นพิษ
      2. ขณะทำความสะอาดควรเปิดประตูและหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท เนื่องจากผลิตภัณฑ์ฟอกขาวอาจทำให้ระคายเคืองเยื่อบุตาและทางเดินหายใจได้
      3. ผู้ทำความสะอาดจะต้องสวมหน้ากากอนามัย N95 ถุงมือ รองเท้าบูท และแว่นตาป้องกันตลอดเวลา
      4. อ่านฉลากทุกครั้งก่อนใช้ ห้ามสัมผัสกับผลิตภัณฑ์โดยตรง และเก็บผลิตภัณฑ์ให้พ้นมือเด็ก
    • สำรวจบ้าน
      1. สังเกตบริเวณที่น้ำท่วมว่ามีเชื้อราเกิดขึ้นที่บริเวณใดบ้าง โดยเฉพาะในห้องใต้ดิน ห้องครัว และห้องน้ำ รวมถึงเพดาน กำแพง พื้น ขอบหน้าต่าง ท่อน้ำที่มีการรั่วซึม ใต้พรม ใต้-หลังเฟอร์นิเจอร์ หรือใต้วอลเปเปอร์
      2. การสังเกตเชื้อราอาจใช้การดูด้วยตาเปล่า หรือใช้การดมกลิ่น ซึ่งจะได้กลิ่นเหม็นอับทึบหรือเหม็นคล้ายกลิ่นดิน
    • ทิ้งสิ่งของที่พบเชื้อราและไม่สามารถทำความสะอาดได้
      1. อย่าเสียดายไปเลยครับ เก็บไว้ก้อใช้งานไม่ได้ ซ้ำร้ายจะก่อให้เกิดโรคร้ายแพร่ต่อเราได้อีกด้วย หากมีของใช้และของแต่งบ้านที่เปียกน้ำเกิน 48 ชั่วโมง โดยเฉพาะวัสดุที่มีรูพรุนและสิ่งของซึ่งยากต่อการทำความสะอาดหรือทำให้แห้ง ไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้หมด เช่น พรม ที่นอน เบาะผ้า วอลเปเปอร์ ผลิตภัณฑ์หนัง กระดาษ ไม้ หมอน ตุ๊กตายัดไส้ ควรทิ้งไปโดยใส่ถุงพลาสติกและมัดให้แน่นเพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อรา
      2. สำหรับวอลเปเปอร์และผนังที่ขึ้นราควรลอกออกให้หมด และทำความสะอาดด้วยแปรงแข็งและน้ำยาฆ่าเชื้อ ไม่ควรติดวอลเปเปอร์หรือทาสีทับลงไป เพราะจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและมีผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้
    • ทำความสะอาดและกำจัดเชื้อรา
      1. ทำความสะอาดพื้น ผนัง เพดาน และสิ่งของที่ปนเปื้อนด้วยน้ำและสบู่หรือน้ำยาล้างจาน ขัดให้คราบสกปรกหลุดออกให้หมด
      2. กำจัดเชื้อราที่อยู่ตามพื้นผิวที่แข็ง เช่น พื้นห้อง เตา อ่างล้างจาน ของเล่นเด็ก เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร จาน พื้นโต๊ะ และอุปกรณ์อื่นๆ โดยทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ฟอกขาว 1 ถ้วย (240 มล.) เจือจางกับน้ำสะอาด 1 แกลลอน (3.8 ลิตร) ถ้าพื้นผิวมีความหยาบให้ใช้แปรงแข็งๆ ขัดทำความสะอาด แล้วจึงล้างพื้นผิวนั้นด้วยน้ำสะอาด 
      3. ถ้าพื้นผิวที่ต้องการทำความสะอาดแห้งและเห็นเป็นราขึ้นฟู ควรเช็ดด้วยกระดาษชำระเนื้อเหนียว พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย หากใช้ผ้าแห้งหรือกระดาษแห้งๆ เช็ดอาจทำให้สปอร์ของราฟุ้งกระจายมากขึ้น วิธีเช็ดควรเช็ดไปในทิศทางเดียว เช่น บนลงล่าง หรือซ้ายไปขวา แล้วทิ้งกระดาษไป ห้ามเช็ดย้อนไปมา เพราะจะทำให้บริเวณที่เช็ดราออกไปแล้วปนเปื้อนราได้อีก จากนั้นเช็ดด้วยน้ำสบู่
      4. สำหรับเสื้อผ้าหรือสิ่งของที่ทำด้วยผ้า เช่น ผ้าม่าน ผ้าห่ม เมื่อซักทำความสะอาดแล้วให้นำมาต้มฆ่าเชื้อ และตากแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้
      5. ระหว่างทำความสะอาดให้เปิดประตูหน้าต่างเพื่อช่วยระบายอากาศห้ามเปิดแอร์หรือพัดลมเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อรา
    • ทำให้แห้งและควบคุมความชื้น
      1. หลังจากทำความสะอาดและกำจัดเชื้อราแล้ว ให้ใช้พัดลมเป่าในบ้านและอุปกรณ์ต่างๆ ให้แห้งสนิท
      2. หากมีการรั่วซึมของน้ำภายในบ้าน เช่น หลังคา ผนัง ต้องรีบแก้ไข เพราะความชื้นเป็นสาเหตุสำคัญของการเจริญเติบโตของเชื้อรา
      3. เฝ้าระวังไม่ให้ภายในบ้านอับชื้น โดยความชื้นที่มักไม่เกิดเชื้อราคือที่ระดับความชื้น 40-60% คอยตรวจสอบบริเวณที่เคยพบเชื้อราและบริเวณที่อับชื้นไม่ให้เกิดเชื้อราขึ้นอีก
    ข้อควรระวังในการกำจัดเชื้อรา
      1. แต่งกายรัดกุม สวมชุดทำความสะอาดที่เตรียมไว้
      2. เปิดหน้าต่างและประตูบ้านให้มีลมและแดดถ่ายเทได้สะดวก
      3. แยกซักเสื้อผ้าที่สวมขณะทำความสะอาดด้วยน้ำร้อนและน้ำยาซักผ้า สำหรับหน้ากากใช้แล้วและขยะที่เกิดจากการทำความสะอาดให้ทิ้งลงในถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิท
      4. หากคนในครอบครัวมีอาการผิดปกติ เช่น คัดจมูก ระคายเคืองนัยน์ตา มีน้ำตาไหล เจ็บคอ ไอ หายใจมีเสียงวี้ด ปวดศีรษะ มีผื่นคันที่ผิวหนังหรือหนังศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์
    แหล่งข้อมูล

    5 ขั้นตอนกำจัดเชื้อราในบ้านหลังน้ำลด, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, http://www.moph.go.th/ops/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=42959
    เชื้อราในบ้าน ปัญหาใหญ่หลังน้ำลด, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, http://www.bumrungrad.com/healthspot/November-2011/cleaning-mold-house 
    ศูยน์ข้อมูลวัตถุอันตรายและเคมีภัณท์, Sodium hypochlorite, http://msds.pcd.go.th/searchName.asp?vID=203
    ผลิตภัณท์ฟอกผ้าขาว (Bleach) และผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคและกำจัดกลิ่นในสระว่ายน้ำ(Swimming pool sanitizer), Ramathibodi Poison Center, 1st.floor, Research - Welfare Building, Faculty of Medicine, Ramathibodi Hospital Rama, http://www.ra.mahidol.ac.th/poisoncenter/bulletin/bul%20%2001/v9n4/Bleach%20agent.html
    Ellenhorn MJ. Medical Toxicology: Diagnosis and Treatment of Human Poisoning. 2nd ed. Household Poisonings. Baltimore: Williams & Wilkins, 1997. p.1082.
    Rao RB, Hoffman RS. In: Goldfrank LR, Flomenbaum NE, Lewin NA, Weisman RS, Howland MA, Hoffman RS. Goldfrank’s Toxicologic Emergencies. 6 th ed. Connecticut: Appleton & Lange, 1998. p.1409.
    รุปประกอบจาก 
    http://aibob.blogspot.com/2011/11/thailand-great-flood-2011-part-iii.html
    http://www.usavemovingandstorage.com/seek-professional-clean-home/
    http://www.alibaba.com/product-gs/287281352/Medical_uniforms_cap_face_mask_gown.html

    วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

    โรคหลอดเลือดสมอง เป็นแล้วถึงตาย ถ้ารอดได้ก้อพิการ โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล


    โรคหลอดเลือดสมองหรือที่เรียกว่า STROKE เป็นโรคที่พบบ่อยเป็นอันดับสามรองจากโรคหัวใจและโรคมะเร็ง เป็นโรคที่ทำให้คนไทยและคนทั่วโลกเสียชีวิตเป็นอันดับแรก ๆ ถ้าได้รับการรักษาไม่ทัน หากคนไข้รอดมาได้ไม่ตายเสียก่อน ก้ออาจทำให้เป็นอัมพาตได้ คุณๆที่มีญาติผู้ใหญ่ที่มีปัญหาโรคความดันโลหิตอาจจะตะหนักถึงภัยของโรคนี้มาแล้ว แต่หลายคน คิดว่าไม่น่าจะเกิดกับเราในวัยหนุ่มสาว ทำให้ประมาทไม่สนใจที่จะเรียนรู้และดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและคนที่รัก 
    เหตุก้อเพราะวันนี้ผมได้ไปแวะเยี่ยมน้องสาวคนหนึ่งที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองแตกซึ่งมีอายุน้อยมากเพียงแค่สามสิบเศษๆเท่านั้นเอง  สามีของคนไข้ที่กำลังใจดีเยี่ยมได้เล่าให้ทราบว่าก่อนเข้าโรงพยาบาลก้อยังปกติดี ยังสนุกสนานร่าเริงเหมือนปกติ แต่มีอาการปวดศีรษะเป็นสัญญานเตือนมาก่อน และได้เข้ารับการรักษาทันท่วงที งั้นลองมาเรียนรู้ถึงอาการ สาเหตุและวิธีป้องกันเสียก่อนที่จะมาเสียใจ  
    โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาที่ได้พบบ่อยมาก
    ทราบหรือไม่ว่ามันเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 1 ของผู้หญิงไทยและเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2  ของชายไทย ถ้ารอดตายมาได้ก้ออาจจะเป็นสาเหตุของความพิการคืออัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ และจะพบได้สูงมากเป็นอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุ อุบัติการณ์การเกิดโรคนี้จะพบได้สูงมากในบ้านเราแสนคนจะมีผู้ป่วยอยู่ 200 คน หรือเท่ากับ 300 รายต่อวัน หากเราป้องกันในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง ให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เร็วทันเวลา จะช่วยลดความพิการและอัตราการตาย รวมทั้งลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งในการจากไปของผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในช่วงวัยทำงานก่อนวัยอันควร และค่ารักษาดูแลในช่วงพิการไปอีกนานแสนนานภายหลังหากรอดตายไปได้
    โรคหลอดเลือดสมองหมายถึงอะไร 
    โรคหลอดเลือดสมอง ประกอบไปด้วย 3 โรคหลักๆ ได้แก่ เส้นเลือดสมองตีบ แตก และ อุดตัน โดยที่เส้นเลือดสมองตีบเป็นแบบที่พบได้มากที่สุด (80-85%) เส้นเลือดที่ตีบเกิดจากการหนาตัวของผนังหลอดเลือด รวมทั้งอาจมีเกล็ดเลือด หรือองค์ประกอบอื่นๆ ของเลือด มาสะสมตามผนังหลอดเลือด ซึ่งจะทำให้เลือดไหลผ่านได้น้อยลง ถ้าเป็นมาก ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียง และเกิดความเสียหายต่อเซลสมองบริเวณนั้นๆ ทำให้สมองบางส่วนขาดเลือด ส่วนโรคหลอดเลือดสมองแตกเกิดจากการแตกของหลอดเลือดสมอง ทำให้มีเลือดออกมาคั่ง และทำลายเนื้อสมองในบริเวณนั้น นอกจากนี้อาจกดเบียดเนื้อสมองส่วนที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้สมองส่วนนั้นทำหน้าที่ไม่ได้ตามปกติ เกิดอาการอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตตามมาในที่สุด

    อาการของผู้ป่วยมีได้หลายรูปแบบ 
    ขึ้นอยู่กับว่าสมองส่วนใดโดนทำลายจนสูญเสียการทำงานไป ที่คุณควรรู้เพื่อลองสังเกตุตัวเองได้แก่
    1.    พูดไม่ออก หรือ ไม่เข้าใจคำพูด หรือพูดไม่ชัดในทันทีทันใด
    2.    แขนขาหรือหน้าอ่อนแรง ชา หรือขยับไม่ได้ขึ้นมาทันทีทันใด โดยเฉพาะ ที่เป็น ครึ่งซีกของร่างกาย
    3.    ตาข้างใดข้างหนึ่งมัวหรือมองไม่เห็นฉับพลัน เห็นภาพซ้อน หรือเกิดอาการคล้ายมีม่านมาบังตา
    4.    ปวดศีรษะรุนแรงฉับพลันชนิดไม่เคยเป็นมาก่อน และ
    5.    งุนงง เวียนศีรษะ หรือเสียการทรงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดร่วมกับอาการอื่นๆที่กล่าวมาแล้ว
    ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
    ถ้าคุณมีปัจจัยต่างๆเหล่านี้อยู่จะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนปกติ อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีความเสี่ยงทุกคนจะต้องเกิดโรคนี้ทุกรายไป ในขณะเดียวกันผู้ที่ไม่มี ปัจจัยเสี่ยงก็มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้เช่นกัน แต่ไม่มากเท่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดก้อคือความดันโลหิตสูง ถ้าสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือถ้าเป็นแล้วการลดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จะสามารถลดความเสี่ยงลงได้
    แนวทางปฏิบัติในการลดความเสี่ยงจากความดันโลหิตสูงคือ
    ·         รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนเกินไป
    ·         รับประทานอาหารให้พอเหมาะ เน้นอาหารที่เป็นพืช ผัก ผลไม้ ลดอาหารที่มีไขมันและเค็มจัด
    ·         หมั่นออกกำลังกายให้สม่ำเสมอเป็นประจำให้พอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป
    ·         ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ ถ้าพบว่าเป็นความดันโลหิตสูง แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาลดความดันโลหิตร่วมด้วย ซึ่งจำเป็นต้องรับประทาน ตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยาเองโดยเด็ดขาด ซึ่งโดยทั่วไปมักต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน
    ·         งดสูบบุหรี่ ถ้างดได้แล้วนอกจากจะลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคปอด จะน้อยลง และสุขภาพโดยทั่วไปก็จะดีขึ้นเองอีกด้วย
    ·         ถ้าคุณเป็นโรคหัวใจมาก่อน เช่น โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจขาดเลือด ควรรีบไปรักษาเพื่อรับยาบางชนิดเพื่อลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
    ·         เบาหวาน ควรพบแพทย์และรับประทานยาอย่างเคร่งครัด จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้
    ·         ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อทั้งหลอดเลือดหัวใจตีบตันและยังอาจเป็น ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองอีกด้วย ดังนั้นการรับประทานอาหารที่ไม่มีไขมันมากเกินไป หรืออาจต้องรับประทานยาลดไขมัน จะช่วยลดการเกิดทั้งสองโรคดังกล่าว
    ตอนหน้ามาดูว่า ถ้าคุณไม่เริ่มต้นดูแลป้องกันในตอนนี้แล้ว หากมีอาการแสดงออกมาแล้ว จะเกิดผลอย่างไรบ้าง ถ้าคุณบอกว่าไม่กลัวตาย หากแต่ถ้าต้องนอนเป็นอัมพฤษต์ หรืออัมพาตไปอีกนาน จะปล่อยให้เสี่ยงเป็นโรคนี้ได้หรือครับ

    แหล่งข้อมูล

    ·         เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล สงวนลิขสิทธิ์ 20 สค. 2553

    ห้ามนำบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ โดยผู้เขียนไปเผยแพร่เชิงพาณิชย์ ให้นำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานหรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น ผู้ประกอบการเว็บไซต์ต้องยึดหลักความเคารพและคำนึงถึงลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนและจริยธรรมทางธุรกิจ

    การนำเอาบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งผลิตขึ้นโดยผู้เขียนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตซ้ำเพื่อเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาและ Copy url address http://www.oknation.net/blog/DIVING ไปด้วยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถลิ้งค์กลับมาอ่านบทความจากเว็บไซต์ของผู้เขียนได้โดยตรง

    บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ไม่แนะนำให้คุณนำไปใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรคด้วยตนเอง ขอความกรุณารับคำปรึกษาได้โดยตรงจากบุคลากรสหวิชาชีพทางสาธารณสุข รวมทั้งเภสัชกรใจดี ที่พร้อมดูแลสุขภาพพ่อแม่พี่น้องนะครับ 

    ·         Stroke / Brain attack, Medlineplus, http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/stroke.html

    ·         Stroke & CVA, National Stroke Association, http://www.stroke.org/site/PageNavigator/HOME

    ·         Stroke Treatment, Causes, Types, Symptoms, Medication And Facts,, http://www.strokeinfoblog.com/

    ·         Ischemic Stroke, Merck Manuals, http://msd-aruba.com/mmpe/sec16/ch211/ch211b.html 

    ·         Hemorrhagic Stroke, Merck Manuals, http://www.merck.com/mmhe/sec06/ch086/ch086d.html

    ·         Stroke medications, WebMD.com, www.webmd.com/stroke/guide/stroke-medications

    ·         โรคเส้นเลือดสมองตีบ,Thai Clinic.com, http://www.thaiclinic.com/braininfarct.html 

    ·         Stroke Medications | Internet Stroke Center, www.strokecenter.org/patients/medications.htm

    ·         นพ.วรวุฒิ เจริญศิริโรคหลอดเลือดสมองแตกศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพhttp://www.bangkokhealth.com/index.php/2009-01-19-03-15-03/1250-2010-01-04-04-35-05

    ·         ภูฟ้า, STROKE: โรคหลอดเลือดสมอง (หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก) GotoKnow.org , http://gotoknow.org/blog/spirit2/168743

    ·         โรคเส้นเลือดฝอยในสมองแตก  http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=4704.0

    ·         นพกิตติศักดิ์ เก่งสกุลเส้นโลหิตในสมองตีบศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล


    ·         เกษร  ตามสัตย์การพยาบาลโรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลบ้านหลวง จังหวัดน่าน

    ·         รูปประกอบจาก http://www.medindia.net/patients/patientinfo/stroke-symptoms.htm และ
    http://thedaneshproject.com/wp-content/uploads/2011/05/stroke_FAST_checklist.gif 

    6 โรคร้ายที่ต้องระวัง ภายหลังน้ำลด โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล

    ภาพน้ำท่วมตลาดสี่มุมเมืองและขยะที่ลอยเกลือ่นจาก http://www.thaitravelnews.net/wp-content/uploads/2011/11/flood_garbage.jpg 
       ช่วงเวลาสองเดือนที่ผ่านมา พ่อแม่พี่น้องคงได้สัมผัสทุกข์ภัยจากภาวะมหา
       อุทกภัยและตามมาซ้ำด้วยสภาพน้ำท่วมขัง แม้นในเวลานี้บางพื้นที่ของเรา
      หลายคนก็ยังต้องผจญภัยจากน้ำอยุ่อย่างลำบากอยู่ไปอีกนาน น้ำที่มานั้น
       นอกจากก่อให้เกิดความไม่สบายใจ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลเครียดกังวลต่อ
       จิตใจแล้ว น้ำเน่าที่ขังนิ่ง เปียกชื้นหรือใกล้จะแห้งลดลงไปแล้ว ก็ยังส่งผลต่อ         
       สุขภาพอย่างมากมาย 
       เรามาดูกันว่าปัญหาโรคอะไรบ้างที่จะพัวพันเราอยุ่ไปอีกนาน เพื่อเราจะได้รู้
       เพื่อวางแผนการมีสุขภาพดี มีพลังไปสู้ชีวิตหลังน้ำลดต่อไป





    ทำไมจึงเป็นโรคได้ง่ายจากน้ำท่วม


    น้ำท่วมที่พัดพามา หากเราไปเดินลุยน้ำอาจก่อให้เกิดบาดแผลจากสิ่งที่น้ำพัดพามา หรือหกล้มทำให้เกิดบาดเจ็บ หากเราต้องไปอาศัยอยุ่ในที่มีน้ำขัง น้ำที่นิ่งไม่ไหลเวียนกลับเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคมากมาย ทั้งโรคผิวหนัง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร โรคฉี่หนู มากมายที่จะกล่าวต่อไป


    หากเราต้องใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่มีเชื้อโรคแพร่มากับน้ำ หรือพลาดเผลอไปกินอาหารที่ไม่สะอาด ก็จะตามมาด้วยอาการท้องเสีย อาหารเป็นพิษตามมาซ้ำร้ายเราได้อีก แต่มหันตโรคภัยที่แฝงมาทำร้ายผู้คนพร้อมกับน้ำท่วมมากที่สุด ได้แก่โรคผิวหนัง น้ำกัดเท้าและผื่นคัน ไข้หวัด โรคเครียดวิตกกังวล โรคตาแดง โรคอุจจาระร่วง และสัตว์มีพิษกัด เรามาทำความรุ้จักเพื่อป้องกันและรักษาต่อไป


    6 โรคร้ายที่เกิดบ่อยได้


    ภาพน้ำกัดเท้า 
    1. โรคผิวหนัง 


    โรคผิวหนังยอดนิยม ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา แผลพุพองเป็นหนองซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาด ไม่แห้งเป็นเวลานาน อาการระยะแรกๆอาจมีอาการเท้าเปื่อย และเป็นหนอง ต่อมาเริ่มมีอาการคันตามซอกนิ้วเท้า และผิวหนังลอกออกเป็นขุย มีผื่น ระยะหลังๆผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง นิ้วเท้าหนาและแตก อาจเกิดโรคแทรกซ้อน คือ ผิวหนังอักเสบได้


    วิธีป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น ถ้าต้องย่ำน้ำ ควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ และควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ และเช็ดให้แห้งเมื่อกลับเข้าบ้าน สวมใส่ถุงเท้า รองเท้า และเสื้อผ้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น หากมีบาดแผล ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์ หรือเบตาดีน
    หากเผลอไปเป็นโรคน้ำกัดเท้า หรือฮ่องกงฟุต เกิดจากเชื้อราที่มาจากการแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน จนทำให้ราร้ายตัวนี้เจริญเติบโตไปตามซอกนิ้วเท้า โดยเชื้อราจะทำให้ผิวหนังลอกเป็นขุย เกิดผื่นที่เท้าผิวหนังที่เท้าเกิดพุพองเริ่มจากซอกนิ้ว แล้วลุกลามไปถึงฝ่าเท้าและเล็บได้ การรักษา และป้องกันทำได้โดยล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่ และเช็ดให้แห้ง ใส่ถุงเท้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น


    2. ไข้หวัดธรรมดาหรือไข้หวัดใหญ่


    โรคหวัดธรรมดามักเกิดจากเชื้อไวรัส พบได้บ่อยในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนบ่อยๆ สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยเชื้อโรคแพร่กระจายมาจากน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือสิ่งของใช้ของผู้ป่วย หากเราไปติดเชื้อมา จะเริ่มมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอ จาม ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร หากดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์

    ไข้หวัดใหญ่ ก็เป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสเช่นกัน เชื้อจะแพร่กระจายเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่เชื้อจะฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ เมื่อสูดลมหายใจเอาเชื้อเข้าไป จะไปเจริญอยู่ในลำคอ และเยื่อบุทางเดินหายใจของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะมีอาการตัวร้อน มีไข้สูงมาก 38-40 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 วัน ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว น้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ จาม หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมมาด้วยจะมีอาการเจ็บคออย่างรุนแรง หากไม่รีบเข้ารับการรักษาหรือคนไข้ที่ภูมิต้านทานไม่ดี อาจรุนแรงกลายเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ปอดบวม ตามมาได้


    ควรรีบเข้ารับการตรวจรักษาโดยเร็ว และป้องกันโดยการล้างมือบ่อยๆ ก่อนกินอาหาร ก่อนและหลังเตรียม/ปรุงอาหารหลังการขับถ่าย หลังหยิบจับสิ่งสกปรก หลังสัมผัสผู้ป่วย หรือสัมผัสสัตว์เลี้ยง และทุกครั้งที่กลับจากนอกบ้าน หลีกเลี่ยงการใช้มือที่ไม่ได้ล้างสัมผัสบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะตา จมูก ปาก หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย และอยู่ในสถานที่มีคนอยู่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก


    3. โรคเครียดวิตกกังวล


    เป็นอาการโรคที่เกิดได้หากเราวิตกมากเกินไป ไม่ว่าจะเกิดจากการรับฟังสื่อมากเกินไป หรือไม่ได้วางแผนเตรียมรับน้ำท่วมมาก่อน ความเครียดเป็นสิ่งที่คนเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้ามองให้เห็นข้อดีจะทำให้เราจะวางแผนรับมือ แต่หากเครียดมากไปจะเกิดผลแย่ลง คือ ส่งผลให้ภูมิต้านทานของเราอ่อนแอลง ทำให้เกิดโรคอื่นๆตามมาซ้ำเติมได้ การรับมือความเครียดทำได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และรู้จักผ่อนคลาย


    4. โรคตาแดง
    โรคตาแดงเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ความจริงแล้วเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรง เพราะส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ถ้าไม่รับการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็น อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ที่น่ากังวลคือโรคนี้ติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ได้แก่ การสัมผัสโดยตรงกับน้ำตา ขี้ตา น้ำมูกของผู้ป่วย หรือจากใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว


    หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน จะเริ่มมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง โดยอาจเริ่มที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงลามไปตาอีกข้าง หากดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มต้น มักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดูแลรักษาให้ถูกวิธี อาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น กระจกตาดำอักเสบ ทำให้ปวดตา ตามัว


    การป้องกันทำได้โดยล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับแหล่งแพร่เชื้อ และหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ให้สะอาดอยู่เสมอ


    5. โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร
    กลุ่มอาการของโรคนี้ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ บิด ตับอักเสบเอ และไข้ทัยฟอยด์นั่นเอง  เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายโดยกินอาหาร ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารที่ทิ้งค้างคืนโดยไม่ได้แช่เย็น และไม่ได้อุ่นให้ร้อนที่อุณหภูมิอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส ก่อนรับประทานอาหาร
    ·      
    โรคท้องร่วง มีอาการถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกเลือด อาจมอาเจียนร่วมด้วย หากมีอาการรุนแรงโดยถ่ายเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าว คราวละมากๆ เรียกว่า อหิวาตกโรค
    ·      อาหารเป็นพิษ มักมีอาการปวดท้อง ร่วมกับถ่ายอุจจาระเหลว คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
    ·      โรคบิด มีอาการสำคัญคือ ถ่ายอุจจาระบ่อย อุจจาระมีมูก หรือมูกปนเลือด มีไข้ ปวดท้องและมีปวดเบ่งร่วมด้วย บางคนอาจมีอาการเรื้อรัง
    ·      โรคไข้ทัยฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย มีอาการสำคัญคือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาจมีอาการท้องผูก หรือบางรายอาจท้องเสียได้


    การรักษาเมื่อเริ่มมีอาการอุจจาระร่วงควรกินหรือดื่มของเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และเกลือแร่ ได้แก่ สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ โอ อาร์ เอส น้ำแกงจืด หรือน้ำข้าวใส่เกลือ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์


     ภาพหนูตายจากน้ำท่วมจาก http://digifotoblog.com
    6. โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรสิส


    เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มีหนูเป็นตัวแพร่โรคที่สำคัญ เชื้อออกมากับปัสสาวะสัตว์แล้วปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมขัง พื้น ดินที่ชื้นแฉะได้นาน เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอก หรือไชเข้าเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนาน หรืออาจติดเชื้อจากการรับประทานอาหารที่หนูฉี่รด


    อาการโรคเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 4 -10 วัน โดยจะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะน่องและโคนขา หรือปวดหลัง บางคนมีอาการตาแดง อาจมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร หรือท้องเดิน ถ้าไม่รีบรักษา บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน หรือตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิตได้


    ป้องกันโดยสวมรองเท้าบู๊ทยางกันน้ำ หากต้องลุยน้ำ ถ้ามีบาดแผล หลีกเลี่ยงการแช่น้ำนานๆ เมื่อขึ้นจากน้ำแล้วต้องรีบอาบชำระร่างกายให้สะอาดโดยเร็ว


    สุดท้ายแล้ว การเตรียมตัว รู้จักสถานการณ์ให้มากที่สุด เพื่อการวางแผนทั้งน้ำท่วมและโรคภัยคือคำแนะนำที่ดีที่สุดให้เราได้รักษาชีวิตให้อยุ่รอดและมีความสุขได้มากที่สุด เชื่อว่าทุกท่านคงได้เรียนรุ้บทเรียนที่ดีจากช่วงเวลาที่ยากลำบาก เภสัชกรร้านยาพร้อมเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพเสมอครับ


    แหล่งข้อมูล
    เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล สงวนลิขสิทธิ์ 28 พย. 2554  
    E-mail: utaisuk@gmail.com Facebook: “UTAI SUKVIWATSIRIKUL
    ห้ามนำบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ โดยผู้เขียนไปเผยแพร่เชิงพาณิชย์ ให้นำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานหรือเพื่อการศึกษาเท่านั้นผู้ประกอบการเว็บไซต์ต้องยึดหลักความเคารพและคำนึงถึงลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนและจริยธรรมทางธุรกิจ
    การนำเอาบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งผลิตขึ้นโดยผู้เขียนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตซ้ำเพื่อเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาและ Copy url address ไปด้วยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถลิ้งค์กลับมาอ่านบทความจากเว็บไซต์ ของผู้เขียนได้โดยตรง
    บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ไม่แนะนำให้คุณนำไปใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรคด้วยตนเอง ขอความกรุณารับคำปรึกษาได้โดยตรงจากเภสัชกรร้านยาใจดีที่พร้อมดูแลสุขภาพพ่อแม่พี่น้องนะครับ
    รูปประกอบจาก

    Flooding and communicable diseases fact sheet, Risk assessment and preventive measures จาก WHO, http://www.who.int/hac/techguidance/ems/flood_cds/en/                  
    National Disaster Recovery Framework, FEMA’s Individual and Community Preparedness Division and Recovery Division are joining together to co-host a webinar about the recently released National Disaster Recovery Framework (NDRF), http://www.fema.gov/recoveryframework/index.shtm
    ภัยสุขภาพป้องกันอย่างไร ในสภาวะน้ำลด , สำนักโรคติดต่อทั่วไป, http://www.ddc.moph.go.th/emg/flood/index.php
    แนวทางการดูแลรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ ในภาวะอุทกภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์, ศูนย์ประสานจัดการความรู้เพื่อรับมือภัยพิบัติ (ศจภ.), http://www.k4flood.net/newweb/index.php/2011-10-27-07-00-36/2011-11-14-18-17-31/30-2011-11-18-16-53-42
    พญ. วลัยอร ปรัชญพฤทธิ์ , ปัญหาสุขภาพและโรคผิวหนังหลังน้ำท่วม, สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์, http://www.inderm.go.th/alumni/journal_alumni/j_20/fil.%2008-Review%20A.pdf
    โรคที่มักเกิดหลังน้ำท่วม, ศูนย์ประสานจัดการความรู้เพื่อรับมือภัยพิบัติ (ศจภ.), http://www.k4flood.net/newweb/index.php/2011-10-27-07-00-36/2011-10-27-07-09-00/2011-11-09-14-20-53
    พญ.ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ, แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคผิวหนังเด็ก, การดูแลแผลหลังน้ำท่วม, http://www.skinhospital.co.th/knowledge/get-to-know/?c_id=186
    พญ.ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ, แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคผิวหนังเด็ก, ปกป้องผิวจาก...ภัยน้ำท่วม, http://www.skinhospital.co.th/knowledge/get-to-know/?c_id=185
    พญ.สุเพ็ญญา  วโรทัย , นพ.สุมนัส  บุณยะรัตเวช, ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, โรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วม, สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย , http://www.dst.or.th/know_details.php?news_id=70&news_type=kno
    ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์ พ.บ.,  น้ำยาฆ่าเชื้อ, วารสารคลินิก เล่ม : 282 , เดือน-ปี : 06/2551, โรงพยาบาลบ้านแหลม, จังหวัดเพชรบุรี, http://www.doctor.or.th/node/7086
    น้ำยาฆ่าเชื้อ, ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์นครราชสีมา, กระทรวงสาธารณสุข ,
    http://www.dmsc.moph.go.th/webroot/nakhonratchasima/ข่าววิชาการ/ลำดับที่_01_น้ำยาฆ่าเชื้อ.htm
    รองศาสตราจารย์แม้นสรวง วุฒิอุดมเลิศ , EM Ball (อีเอ็มบอล), ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=79
    เภสัชจุลชีววิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล การทำให้ปราศจากเชื้อและการฆ่าเชื้อ. 2531: 77-81.
    นรีกุล สุรพัฒน์. Medical Microbiology:Quality Control in Clinical Microbiology. 2526: 265-269.

    วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

    “ยุงประเภทไหน” ก่อให้เกิดโรคได้บ้าง


    น้ำท่วมที่เจิ่งนองขณะนี้ ในบางแห่งย่อมเป็นแหล่งกำเนิดของกองทัพยุงมากมาย เรามีข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เราได้รุ้จักยุงแต่ละชนิดและโรคร้ายที่อาจนำมาแพร่ถึงเราได้ เพื่อการป้องกันต่อไป

    ยุงที่พบในประเทศไทยนั้นมี 4 ชนิด ประกอบด้วย

    1.ยุงรำคาญ ซึ่งพบมากกว่าร้อยละ 80 เนื่องจากยุงชนิดนี้จะบินไกลถึง 1-2 กิโลเมตร ซึ่งสามารถจำแนกยุงรำคาญที่มักพบในไทยได้ 3 ชนิด คือ

    1.1.ยุงรำคาญ (Culex gelidus) มักพบตามท่อน้ำ ชอบบินข้างหู กัดเจ็บ แต่ไม่นำโรค แม้ในบางประเทศเคยมีรายงานการติดเชื้อไข้สมองอักเสบจากการโดนยุงชนิดดังกล่าวกัด แต่ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ป่วยเป็นไข้สมองอักเสบจากการโดนยุงชนิดนี้กัด

    1.2.ยุงรำคาญ (Culex quiquefasciatus) เป็นพาหะนำโรคเท้าช้าง แต่พบว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากไม่ถึงร้อยละ 1 และ

    1.3.ยุงรำคาญ (Culex Tritaeniorhynchus) ซึ่งพบว่ายุงชนิดนี้เป็นพาหะนำเชื้อไข้สมองอักเสบ เจอี แต่เนื่องจากประเทศไทยมีมาตรการในการให้วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบชนิดนี้อยู่แล้ว จึงไม่พบการระบาดของโรคนี้ โดยยุงชนิดนี้มักพบตามฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ม้า เป็นต้น
    ภาพยุงรำคาญ
    ที่น่ากลัวมากกว่าคือ
    2.ยุงลาย พบประมาณ 10% ซึ่งลูกน้ำยุงลายสามารถเติบโตได้ในแหล่งน้ำนิ่ง และเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก แต่ธรรมชาติของยุงลายจะบินไม่ไกล ประมาณ 100-200 ม.ดังนั้น จึงไม่ควรมีแหล่งน้ำขังอยู่ภายในบ้าน

    หากเลี่ยงไม่ได้ควรที่จะหาทางลดการสัมผัสกับยุงโดยการจุดยากันยุง นอนกางมุ้ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบันยังเกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนที่ประสบอุทกภัยต้องไปพักที่ศูนย์พักพิงจำนวนมาก ทำให้อาจจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้ ทางกรมควบคุมโรค โดยสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง จึงมีการเฝ้าระวังตามศูนย์พักพิงต่างๆ ซึ่งขณะนี้พบจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากขึ้น แต่ยังอยู่ในจำนวนที่น้อย ซึ่งยังไม่ถือเป็นนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม

    สำหรับยุงชนิดที่ 3 และ 4 คือ ยุงเสือ และยุงก้นป่อง โดยทั้งสองชนิดรวมกันมีรายงานการพบไม่10 % ซึ่งในส่วนของยุงเสือ จะพบตามผักตบชวา ซึ่งเป็นพาหะทำให้เกิดโรคเท้าช้าง ขณะที่ยุงก้นป่อง มีรายงานว่าพบตามแหล่งน้ำทิ้งบ้าง แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการระบาดของโรคมาลาเรีย เพราะการระบาดของโรคนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อยุงก้นป่องไปกัดคนที่เป็นมาลาเรียแล้วไปกัดคนอื่นต่อเท่านั้น
           
           "สำหรับตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปี 2554 ถึงปัจจุบันพบ 64,000 ราย เสียชีวิต 56 ราย

    ขณะที่ปี 2553 พบผู้ป่วย 100,000 ราย เสียชีวิต 100 ราย 


    แหล่งข้อมูล
    “ยุงรำคาญ” พาหะนำเชื้อไข้สมองอักเสบอื้อ/ปี 54 ป่วยไข้เลือดออกตาย 56 ราย
    โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์26 พฤศจิกายน 2554 09:14 น.
    http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000150603

    ภาพประกอบจาก 
    mosquito_9_lancastria.jpg